ไฮไลต์5ประเทศ11วัน ‘ทรัมป์’สานประโยชน์ชาติเอเชีย

11 พ.ย. 2560 | 02:18 น.
การเดินทางเยือน 5 ประเทศเอเชียของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะเป็น การเดินทางเยือนต่างประเทศที่ยาวนานที่สุดที่ทรัมป์เคยมี นับจากได้รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ และเป็นการเดินทางที่มีความสำคัญยิ่งยวดทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เรามาดูกันว่าประเด็นสำคัญที่ทรัมป์จะหยิบยกไปเจรจากับแต่ ละประเทศในแผนการเยือนครั้งนี้มีอะไรบ้าง

++ญี่ปุ่น (5-7 พ.ย.)
ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของการเยือนเอเชียในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นผู้นำชาติเอเชียที่แสดงออกถึงความเป็นมิตรและแสดงความกระตือรือร้นที่จะสานสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งขันมากที่สุด ประเด็นความร่วมมือในการรับมือกับการคุกคามของเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ และในส่วนของความสัมพันธ์ทางการค้าที่ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าสหรัฐฯอยู่กว่า 69,000 ล้านดอลลาร์นั้น ทั้ง 2 ฝ่ายได้เสนอจัดตั้งกลไกการเจรจาแก้ปัญหาการค้าที่เรียกว่า การเจรจาเศรษฐกิจญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ขึ้นมาแล้วตั้งแต่ต้นปี เพื่อร่วมกันคลี่คลายปัญหาการค้าสินค้าเกษตรและการเปิดตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นให้กับบริษัทอเมริกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้หลายประเด็นจะคลี่คลาย แต่คณะเจรจาฝ่ายสหรัฐฯก็ยังพยายามกดดันญี่ปุ่นให้เร่งมือแก้ไขในอีกหลายเรื่อง อาทิ การที่ญี่ปุ่นตั้งกำแพงภาษีถึง 50% สำหรับเนื้อวัวแช่แข็งจากสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ยอดส่งออกเนื้อวัวแช่แข็งมายังตลาดญี่ปุ่นตกวูบลงถึง 26% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

++เกาหลีใต้ (7-8 พ.ย.)
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับนายมูน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นการรับมือกับท่าทีแข็งกร้าวของเกาหลีเหนือ โดยนายมูนต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง เช่นการเสนอให้ความช่วยเหลือและสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นแนวทางที่สหรัฐฯไม่เห็นด้วย

ดังนั้นการเยือนเกาหลีใต้ครั้งนี้จึงเป็นที่จับตาอย่างมากว่า ความสัมพันธ์ที่มึนตึงระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายจะคลี่คลายลงได้หรือไม่ ยิ่งพิจารณาด้านการค้าแล้ว ก็ยิ่งน่าห่วงเนื่องจากสหรัฐฯต้องการรื้อฟื้นเงื่อนไขข้อตกลงเอฟทีเอที่ทำไว้กับเกาหลีใต้ เหมือนๆ กับที่สหรัฐฯกำลังรื้อฟื้นข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ที่ทำไว้กับเม็กซิโกและแคนาดา เป้าหมายก็เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้าที่เกาหลีได้ดุลสหรัฐฯอยู่ถึง 28,000 ล้านดอลลาร์

TP10-3312-B ++จีน (8-10 พ.ย.)
นี่คือการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นห้วงเวลาเหมาะเจาะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่งปิดฉากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมาหมาดๆและเป็นการประชุมที่อำนาจในการบริหารประเทศของเขาได้รับการเสริมใยเหล็กอย่างแข็งแกร่ง ประเด็นที่ทรัมป์จะหารือกับผู้นำจีนนั้นครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความร่วมมือในการกำราบเกาหลีเหนือ การร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่มีต่อจีน และการขอให้จีนเปิดตลาดให้กับสินค้าและบริษัทของอเมริกันมากยิ่งขึ้น

ในการเยือนครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯนำคณะนักธุรกิจชุดใหญ่ไปด้วย จึงมีความคาดหมายว่าเขาน่าจะปรับท่าทีลดความแข็งกร้าวต่อจีน (ที่เคยแสดงไว้เมื่อคราวหาเสียง) ลงอย่างมากเพื่อบรรยา กาศที่ดีสำหรับการเจรจาหาลู่ทางเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน ก่อนหน้านี้ จีนได้รับปากไว้แล้วว่าจะนำเข้าข้าวและก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้นโดยจะทำสัญญาซื้อขายระยะยาว ยังมีรายงานข่าวออกมาด้วยว่า จีนอาจจะยินยอมเปิดเสรีตลาดการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งเปิดตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้กับบริษัทอเมริกัน นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯยังจะขอให้จีนขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจที่อิงกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น ลดการอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ทำให้ผู้ผลิตของจีนได้เปรียบผู้ผลิตอเมริกันในด้านราคา นอกจากนี้ยังจะขอให้จีนมอบสิทธิประโยชน์แก่บริษัทอเมริกันที่เข้ามาลงทุนในจีนอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับที่บริษัทท้องถิ่นได้รับ

สำหรับประเด็นที่ฝ่ายจีนจะนำเสนอนั้นเชื่อว่า ได้แก่การชักชวนสหรัฐฯให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ The Belt and Road ที่เป็นความริเริ่มของจีน โดยอาจจะเริ่มที่การยอมให้จีนเข้าไปสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆในสหรัฐฯ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทุกๆ ประเด็นที่จีนยินยอมอ่อนข้อให้ทรัมป์ จีนเองก็หวังให้สหรัฐฯรามือให้แก่จีนในบางเรื่องเช่นกัน อาทิ กรณีที่สหรัฐฯกล่าวหาบริษัทจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 ++เวียดนาม (10-12 พ.ย.)
เวียดนามเจ้าภาพการประ ชุมเอเปกในปีนี้ คาดหวังที่จะเพิ่ม ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ทวิภาคี หลังจากที่ทรัมป์ถอนสหรัฐฯออกจากการเป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ ทีพีพี ที่เวียดนามยังคงเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งนี้ การค้าของเวียดนามยังพึ่งพาตลาดสหรัฐฯอยู่มาก ขณะเดียวกัน ผู้นำเวียดนามก็ต้องการลดการพึ่งพาตลาดจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ ปัจจุบัน จีนมีสัดส่วน 21% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศของเวียดนาม ขณะที่สหรัฐฯมีสัดส่วนเพียง 13%

อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯอยู่มาก โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ดุลการค้าสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นกว่า 2 เท่า จึงเชื่อว่าในการพบกันครั้งนี้ ผู้นำเวียดนามจะพยายามชักจูงใจสหรัฐฯด้วยการเสนอผ่อนปรนกฎเกณฑ์ ให้บริษัทอเมริกันเข้ามาลงทุนในเวียดนามได้สะดวกขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น คาดว่าจะมีการลงนามทำข้อตกลงทางด้านการค้า-การลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนทั้งสองฝ่ายด้วย

++ฟิลิปปินส์ (12-13 พ.ย.)
สหรัฐฯเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดและเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของฟิลิปปินส์ แม้ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้นำสหรัฐฯมาในช่วงก่อนหน้านี้ แต่เชื่อว่าเมื่อต้องอยู่ในฐานะเจ้าภาพและเจ้าบ้านที่ต้องต้อนรับแขกผู้มาเยือน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะมีท่าทีที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างแน่นอน ก่อนหน้านี้ ดูแตร์เตเคยประกาศชัดเจนถึงนโยบายผูกมิตรกับจีนมากขึ้น แต่ระยะหลังๆ ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯก็ไม่ได้ยํ่าแย่นัก และดูจะปรับปรุงดีขึ้น สะท้อนจากการที่สหรัฐฯส่งโดรนสำหรับการตระเวนสอดแนมมาช่วยบินเก็บข้อมูลและช่วยกองทัพฟิลิปปินส์ในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในเมืองมาลาวี นอกจากนี้ การเยือนฟิลิปปินส์ของประธานาธิบดีทรัมป์ยังเป็นการเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิท การประชุมสหรัฐฯ-อาเซียนซัมมิท และการประชุมอีสต์เอเชียซัมมิท สะท้อนถึงความสำคัญของอาเซียนในสายตาของสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่งยวดอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว