กรมการข้าวจัดนิทรรศการฉลองครบรอบ 20ปีข้าวป่า (โมมิ)

07 พ.ย. 2560 | 10:13 น.
วันนี้ (7 พ.ย.60) ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว ได้จัดสัมมนาเรื่องงานวิจัยข้าวป่าและการอนุรักษ์ข้าวป่าในถิ่นเดิม และแสดงนิทรรศการครบรอบ 20 ปี ประติมากรรมเมล็ดข้าวป่า (MOMI) ระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2560 โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 เผยว่า เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมาในวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2540 ได้เป็นประธานในพิธีรับมอบประติมากรรมเมล็ดข้าวป่า หรือ “โมมิ” จาก Mr.Mitsuaki Tanabeประติมากรชาวญี่ปุ่น ที่มีเจตนารมณ์ต้องการสื่อให้คนทั่วไป ได้เห็นความสำคัญของข้าวป่าและความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมข้าวป่า ซึ่ง Mr.Tanabe ได้รวบรวมทุนทรัพย์จากแหล่งต่างๆนำมาสร้าง “โมมิ” ในหลากหลายรูปแบบแล้วมอบให้แก่หน่วยงานในหลายประเทศ

เช่น สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (ฟิลิปปินส์) ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี (ไทย) ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด (นอร์เวย์) เป็นต้น โดยในประเทศไทย “โมมิ” ขนาดใหญ่ ต้องอยู่ ณ แปลงนาทดลองภายในศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ขณะเดียวกัน Mr.Tanabeยังได้น้อมเกล้าฯถวาย “โมมิ” ขนาดเล็กแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงสนับสนุนการอนุรักษ์ข้าวป่าในสภาพธรรมชาติ พร้อมกันนั้นยังได้สร้าง “โมมิ” ทำจากไม้ไผ่มอบให้แก่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีด้วย

ri

“โมมิ เป็นสิ่งดึงดูดใจต่อผู้พบเห็น และนำสู่ความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรข้าวป่า เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับพระราชวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีแนวความคิดเกี่ยวกับข้าวป่าที่พบเห็นอยู่ทั่วไปว่า ประเทศไทยควรศึกษาพันธุ์ข้าวป่า รวมทั้ง gene ข้าวป่าอย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นพื้นฐานของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ”

ด้านนายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ข้าวป่า คือ ข้าวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อยู่ในสกุล (Genus) เดียวกันกับข้าวปลูก คือ สกุล ออไรซา (Oryza) แต่มีหลากหลายชนิด (Species) โดยมีรายงานว่าทั่วโลกมีข้าวป่าอยู่ 22 ชนิด พบในประเทศไทย 5 ชนิด ได้แก่
ชนิด rufipogon, nivara, officinalis ridleyi และ granulate ในจำนวนนี้ 2 ชนิด คือ rufipogon และnivara มีความสำคัญในฐานะเป็นบรรพบุรุษของข้าวปลูก ลักษณะของข้าวป่านั้นเป็นวัชพืช เมล็ดเล็ก ร่วงง่าย แต่มีลักษณะบางประการที่ไม่อาจหาได้จากพันธุกรรมข้าวปลูก ได้แก่ การเป็นพืชข้ามปี เรณูเป็นหมัน ความต้านทานโรคแมลง ความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (เช่น ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยว)

ซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ ข้าวป่ามีความแปรปรวนทางพันธุกรรมสูงและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องในสภาพธรรมชาติ ข้าวป่ามีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง และมีลักษณะเฉพาะที่หาไม่ได้ในข้าวปลูก เช่น ความต้านทานต่อโรคและแมลง หรือความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ปัจจุบันมีการนำ
ข้าวป่ามาใช้ประโยชน์ เช่น ยีนต้านทานโรคขอบใบแห้งของข้าว และแหล่งของความเป็นหมันของเกสรตัวผู้ ที่ใช้ในโครงการข้าวลูกผสมของประเทศจีนได้มาจากข้าวป่า
ri1

รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปอีกว่า ในประเทศไทยมีการผสมข้ามชนิด เพื่อถ่ายทอดลักษณะต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระหว่างข้าวปลูกพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และข้าวป่า O.Minuta ซึ่งเก็บรวบรวมไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดพันธุ์เชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ โดยใช้ข้าวป่า เป็นต้นพ่อด้วยวิธีกู้คัพภะ (embryo rescue) และใช้สารโคลชิซีนชักนำให้เกิดการเพิ่มจำนวนโครโมโซม สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่แสดงลักษณะต้านทานแมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ดีกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ที่ใช้เป็นพันธุ์ต้านทานมาตรฐาน

“ปัจจุบัน ข้าวป่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศ การขยายเมือง สร้างถนน ทำให้แหล่งข้าวป่าถูกทำลายหมดสิ้นไป มีรายงานว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี (2526-2536) ปริมาณข้าวป่าในประเทศไทยลดลงถึง 23% อย่างไรก็ตามกรมการข้าวได้ดำเนินการนำเมล็ดข้าวป่าที่เก็บรวบรวมจากแหล่งต่างๆ มาอนุรักษ์ไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ (germplasm bank) รวมทั้งดูแลรักษาแปลงอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวป่าในถิ่นเดิม (insitu conservation) เพื่อให้ข้าวป่ายังคงมีวิวัฒนาการและความหลากหลายทางพันธุกรรมต่อไปในสภาพธรรมชาติ และเป็นแหล่งสนับสนุนที่ถาวรของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวปลูกในอนาคต” อธิบดีกรมการข้าวกล่าว

e-book