จากพม่าสู่อินเดียเรื่องราวของเส้นทางการค้าโบราณสู่ระเบียงเศรษฐกิจสมัยใหม่

08 พ.ย. 2560 | 00:25 น.
TP07-3312-1a ผมเขียนบทความนี้ในระหว่างที่กำลังเดินทางอยู่ในประเทศเมียนมา และในช่วงเวลาที่กำลังทำงานวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเมียนมา-อินเดีย เพื่อที่จะได้เรียนรู้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการทำนโยบายความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ระหว่างไทยกับดินแดนภารต งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์อาเซียนศึกษา และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แน่นอนครับเมื่อเราตั้งโจทย์เรื่องความสัมพันธ์เมียนมา-อินเดีย ถ้าในช่วงเวลาปัจจุบันเรามักจะนึกถึงภาพการค้าระหว่างประเทศที่เมียนมาส่งออกสินค้าจำพวกถั่วและธัญพืชต่างๆ ไปขายอินเดีย เห็นภาพนักลงทุนอินเดียโดยเฉพาะภาคการเงินมองตลาดเมียนมา ในขณะเดียว กันผลิตภัณฑ์ยาจากอินเดียก็ทำให้คนเมียนมาสามารถเข้าถึงยาคุณภาพดีราคาถูก หลายคนอาจจะมองเห็นภาพเส้นทางการค้าในอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย

ในขณะที่อีกหลายๆ คนคงนึก ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,605 ปีที่แล้วของพ่อค้ามอญ 2 คน คือ ตปุสสะและ
ภัลลิกะ ที่เกิดความเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า จากการที่ได้ไปเข้าเฝ้าถวายข้าวสัตตูและถวายตัวเป็นปฐมอุบาสก เมื่อจะจากมาก็กราบทูลขอให้พระพุทธองค์ประทานสิ่งใดเป็นอนุสรณ์สำหรับบูชาแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานเส้นพระเกศาธาตุ หรือเส้นผม 8 เส้นของพระองค์ให้ เมื่อชาวมอญทั้ง 2 กลับมาจึงได้ก่อสร้างเจดีย์บนเนินเชียงกุตระ ณ เมืองตะโกง ทำให้บนเส้นขอบฟ้าของเมืองนี้เรามองเห็นพระมหาเจดีย์ชเวดากอง หรือเจดีย์ทองแห่งเมืองตะโกง ซึ่งปัจจุบันก็คือนครย่างกุ้ง และการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศเมียนมา

แน่นอนว่าเรื่องราวนี้ทำให้พวกเราได้ทราบว่าเส้นทางการค้าในอ่าวเบงกอลซึ่งเชื่อมโยงการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ชมพูทวีปไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในสมัยที่อินเดียเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกควบคู่กับประเทศจีน และครองส่วนแบ่งใน GDP ของโลกใบนี้ด้วยมูลค่าสูงกว่า 60%

TP07-3312-2a เมื่อเวลาเดินทางต่อมาถึงในสมัยอยุธยาเป็นราชธานีของสยาม เมืองท่าสำคัญทางตะวันตกของสยามที่เชื่อมเข้ากับมหาสมุทรอินเดียก็คือเมืองมะริด สยามซึ่งแผ่อิทธิพลเหนือล้านนา (ชื่อก็บอกแล้วว่าคือแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ) และล้านช้าง (ชื่อก็บอกเราเช่นกันว่าคือแหล่งผลิตสินค้าทุน ปัจจัยการผลิตที่สำคัญในเวลานั้น นั่นคือ ปศุสัตว์) และมีความเชี่ยวชาญ (เทคโนโลยี) ในการฝึกฝนในช้าง (พิจารณาช้างในฐานะสินค้าทุนที่สำคัญในการผลิต และในการสร้างความมั่นคงเพื่อรักษาอาณาจักร) สยามก็สามารถลำเลียงช้างโดยใช้เรือสินค้าขนาดใหญ่ ส่งออกช้างไปยังอินเดีย ผ่านทางท่าเรือที่มะริดแห่งนี้ ช้างเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงองค์ความรู้เรื่องโลจิสติกส์ที่ดีเยี่ยม เพราะเรากำลังพูดถึงการส่งออกสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ต้องการพื้นที่ ต้องการนํ้าหนักบรรทุก ต้องการนํ้าจืดและต้องการอาหารจำนวนมาก รวมทั้งต้องการเส้นทางที่สั้นที่สุดเพื่อให้ช้างไม่โทรมและสามารถไปถึงมือลูกค้าราชวงศ์อิสลามโมกุลได้โดยบอบชํ้าน้อยที่สุด แล้วสยามก็ทำได้สำเร็จ

ต่อมาในยุคกลางของกรุงรัตนโกสินทร์ พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อังกฤษเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต สภาพ สังคมวัฒนธรรมของพม่าเปลี่ยนไปตลอดกาล จากการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้ตนเอง พม่าถูกกำหนดให้กลายเป็นแหล่งผลิตพืชเชิงเดี่ยว นั่นคือ ข้าว ที่ถูกปลูกขึ้นมาเพื่อส่งออกไปเลี้ยงคนในปกครองในอาณานิคมของอังกฤษทั่วโลก พม่ากลายเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ในขณะที่ทรัพยากรป่าไม้และสินแร่ต่างๆ ก็ถูกสูบขึ้นมาเพื่อไปสร้างความมั่นคงให้จักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ หาใช่ประเทศพม่าไม่ แต่อย่างไรก็ตามอังกฤษก็พัฒนาในย่างกุ้งกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดแห่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่าเรือขนาดใหญ่ จุดศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรเกิดขึ้นที่ย่างกุ้ง ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของภูมิภาคเกิดขึ้นคู่กับมหาวิทยาลัยสมัยใหม่แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 แต่ทั้งหมดนั้นล่มสลายเมื่อพม่าปิดประเทศในปี 1962 รัฐบาลยึดกิจการทุกประเภทให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเผด็จการทหารที่เชื่อมั่นในระบบสังคมนิยมแบบพม่า ทุกสิ่งทรุดโทรมจนพม่าได้รับการจัดชั้นโดยธนาคารโลกให้กลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาในทศวรรษ 1990

แต่ฝันร้ายเหล่านั้นผ่านพ้นไป เมื่อเมียนมาเปิดประเทศและปฏิรูประบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจังในปี 2010 เมียนมากำลังจะพัฒนาตนเองด้วยขุมทรัพย์ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งทวงคืนทำเลที่ตั้งเมืองท่าที่ดีที่สุดของอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย

บาร์ไลน์ฐาน ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา พื้นที่ 2,400 เฮกเตอร์ (15,000 ไร่) ห่างจากนครย่างกุ้งเพียง 23 กิโล เมตร ได้รับการพัฒนาโดยรัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่น ปัจจุบัน Phase 1 มีผู้ประกอบการจับจองแล้ว 84 รายเต็มพื้นที่ (44 รายจากญี่ปุ่น และ 14 รายจากไทย) Phase 2 Zone A กำลังจะเต็ม 60% ของผู้ประกอบการตั้งเป้าจะผลิตเพื่อป้อนตลาดเมียนมาที่โตวันโตคืน จากนั้นจึงจะส่งออกผ่านทาง MITT: Myanmar International Terminal Thilawa ที่เข้ามาลงทุนโดยกลุ่มทุนฮ่องกงและสิงคโปร์

ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออกที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองเมาะลำใย (มะละแหม่ง) เมืองหลวงของรัฐมอญเสร็จสมบูรณ์สามารถเชื่อมมหาสมุทรอินเดียผ่านประเทศไทย สปป.ลาว ไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกที่เมืองดานัง ของประเทศเวียดนาม พร้อมทั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ที่กำลังศึกษาส่วนขยายจากมะละแหม่ง ผ่านพะโค-หงสาวดี สู่ย่างกุ้ง และเปิดเมืองท่าใหม่ที่พะสิม (Pathein) ในภาคอิรวดีดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าอิรวดีที่อุดมสมบูรณ์จนครั้งหนึ่งทำให้เมียนมาเคยส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก

วิทยุพลังงาน จีนเองก็ลากแนวระเบียงเศรษฐกิจผ่านเมียนมาถึง 2 ระเบียงภายใต้แผนหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) นั่นคือ ระเบียงเศรษฐกิจ China-Indochina Peninsula Corridor จากคุนหมิงสู่สิงคโปร์ และระเบียงเศรษฐกิจ Bangladesh-China-Myanmar Corridor ที่มีท่อก๊าซและท่อนํ้ามันดิบ Sino-Burma Gas and Oil Pipeline และเขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิ่วในเมียนมาเป็นพระเอก

อินเดียเองก็กำลังรีบเร่งเชื่อมโยง มหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก เข้าด้วยกัน โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อสร้างดุลอำนาจกับแผนหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทางของจีน ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังจะเข้าไปเชื่อมการขนส่งภายในอินเดียด้วยเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โครงการแรกที่จะเห็นเป็นรูปธรรมในการเชื่อมอินเดีย-อาเซียน คือ India-Myanmar- Thailand Trilateral Highway ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2020 และส่วนขยายต่อไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ตามมาด้วยการเชื่อมโยงแม่นํ้า Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project เพื่อเชื่อมโยง 7 รัฐที่ไม่มีทางออกทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียผ่านแม่นํ้าคาลาดานของเมียนมากำลังเดินหน้า ท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมาถูกวางตำแหน่งให้เชื่อมโยงกับเมืองท่าเชนไนทางตอนใต้ของอินเดีย
และนี่คือการชุบชีวิตเส้นทางการค้าโบราณสู่ระเบียงโลจิสติกส์ที่สำคัญจาก เมียนมาสู่อินเดียในศตวรรษที่ 21 ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว