“โวดาโฟน”เผยภาคธุรกิจเอเซียก้าวขึ้นผู้นำโลกด้านการประยุกต์ใช้ IoT

06 พ.ย. 2560 | 09:19 น.
โวดาโฟน (Vodafone) เผยรายงานฉบับล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจในเอเชียกำลังเป็นผู้นำของโลกด้านการประยุกต์ใช้ Internet of Things (IoT) โดยมีสัดส่วนบริษัทที่ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตพุ่งขึ้นถึง 200% จากปี 2556 มาแตะที่ระดับ 36% ในปี 2560

รายงาน "Vodafone IoT Barometer 2017/18" ดังกล่าว เป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับนวัตกรรมและการลงทุนใน IoT โดยข้อมูลสำคัญที่ค้นพบเผยให้เห็นว่า เอเชียเป็นผู้นำในการรับเอาอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาใช้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ IoT ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและกำลังถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง โดยรายงานเผยให้เห็นว่า

77% ของธุรกิจในเอเชียมองว่า IoT มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจของตน

88% ของผู้ตอบแบบสำรวจในเอเชียใช้โซลูชั่น IoT เพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

กว่าครึ่งหนึ่ง (53%) ของวิสาหกิจในเอเชียระบุว่า IoT ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด

42% ของธุรกิจในเอเชียมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากกว่า 1,000 เครื่อง และ 53% ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ธุรกิจในเอเชียได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนถึงอนาคตของ IoT ดังนี้

91% เชื่อว่า IoT จะมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างในช่วง 5 ปีข้างหน้า

79% เชื่อว่าการใช้ IoT จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ความกังวลเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวจะลดลงอย่างมาก

91% เชื่อว่าความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดโซลูชั่น IoT ร่วมกัน

89% เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) จะพบเห็นได้ทั่วไปภายในปี 2565

จัสติน เนลสัน ผู้อำนวยการฝ่าย IoT ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของโวดาโฟน เปิดเผยว่า "นี่คือช่วงเวลาที่สำคัญของ IoT เพราะบรรดาธุรกิจในเอเชียต่างยอมรับว่า IoT เป็นองค์ประกอบหลักของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต และความเชื่อมั่นใน IoT ทำให้ธุรกิจต่างๆ มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล"

รายงานยังระบุถึงองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการของธุรกิจยุคใหม่ ได้แก่ สถานะตลาด ประโยชน์ทางธุรกิจ การก้าวไปข้างหน้า และแนวโน้มเชิงบวกในอนาคต

นอกเหนือจากจำนวนการใช้ IoT ที่เพิ่มขึ้นมหาศาลแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ IoT ยังถูกนำไปใช้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย รายงานยังระบุถึงประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเจาะลึกทางธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น ต้นทุนที่ลดลง และผลิตภาพที่ดีขึ้นของพนักงาน

การที่แบรนด์มีความโดดเด่นขึ้น (42%) และมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดมากขึ้น (53%) ถือเป็นประโยชน์พื้นฐานที่ธุรกิจในเอเชียได้รับ เทียบกับ 35% ในทวีปอเมริกา และ 33% ในยุโรป ส่วนความสามารถในการทำรายได้จาก IoT ยังอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 53%

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจยังมีมุมมองบวกต่อการรักษาความปลอดภัย IoT โดยมองว่า "มอบความเชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจในการลงทุนเพิ่มเติม" และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน IoT ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่ธุรกิจในเอเชียมีมุมมองเชิงบวกมากกว่าทั่วโลก โดยผู้ตอบสำรวจ 86% ยกให้ความปลอดภัยเป็น "ใบเบิกทาง" เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% ขณะที่ธุรกิจ 83% ระบุว่ามีทักษะเพียงพอในการจัดการความปลอดภัย IoT ทิ้งห่างยุโรปซึ่งอยู่ที่ 70% และทวีปอเมริกาที่ 65%

ในขณะที่โครงการ IoT มีสเกลที่ใหญ่ขึ้น เงื่อนไขการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยรายงานระบุว่าธุรกิจต้องการเทคโนโลยีที่หลากหลาย ตั้งแต่บริการโทรศัพท์พื้นฐานไปจนถึงเครือข่าย LP-WAN ขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยทั่วไปแล้ว โปรเจคที่มีสเกลงานใหญ่มักจะใช้การเชื่อมต่อ 4 รูปแบบด้วยกัน โดยการเชื่อมต่อผ่านดาต้าของมือถือและไวไฟได้รับความนิยมสูงสุด นอกจากนี้ เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ เช่น Narrowband IoT (NB-IoT) ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดย 28% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจระบุว่ากำลังพิจารณา NB-IoT และ LP-WAN อื่นๆ เพื่อรองรับโครงการ IoT ใหม่ๆ

รายงานฉบับนี้มาจากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถาม 1,278 คน ใน 13 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี สเปน แอฟริกาใต้ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์