รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดล้านนา

08 พ.ย. 2560 | 08:44 น.
ปัจจุบันแม้จะมีเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพมหานคร-เชียงใหม่ แต่ดูเหมือนว่าจะยังมีเส้นทางเชื่อมโยงไม่ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะช่วงจากเด่นชัย-เชียงใหม่ที่ยังเป็นทางเดี่ยว ส่งผลให้การเดินทางมีจำนวนเที่ยวจำกัด ทั้งๆที่น่าจะได้รับการพัฒนาให้เป็นทางคู่เพื่อเพิ่มจำนวนรอบในการเดินทางและเพิ่มความรวดเร็วตลอดจนสร้างทางเลือกด้านการบริการให้เพิ่มมากขึ้น

ขณะนี้โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการเดินทาง การขนส่งสินค้า เพิ่มความจุทาง ลดระยะเวลาการเดินทาง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะด้วยระบบรางกันในอีกบริการหนึ่งของรัฐนอกเหนือจากจะเน้นเพื่อการให้บริการขนส่งของประเทศ

รถไฟทางคู่เส้นทางนี้ประกอบด้วย 17 สถานี (ไม่รวมสถานีเด่นชัย) และ 1 ที่หยุดรถ มีย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard) จำนวน 2 แห่ง(อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางและ อ.สารภี จ.เชียงใหม่) มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งที่(อ.สารภี จ.เชียงใหม่) แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ของ จ.แพร่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เด่นชัยและ อ.ลอง ผ่านพื้นที่จ.ลำปาง 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่เมาะ อ.แม่ทะ อ.เมือง และ อ.ห้างฉัตร ผ่านพื้นที่จ.ลำพูน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ทา และ อ.เมือง และผ่านพื้นที่จ.เชียงใหม่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.สารภีและ อ.เมือง

TP12-3311-B โดยตามผลการศึกษาพบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.06% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 291 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนเท่ากับ 1.01 % ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของธนาคารโลก และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 61,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,464 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท ได้ออกแบบให้เป็นรถไฟที่ใช้ขนาดทาง 1 เมตร(Meter Gauge) มีระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร ใช้ความเร็วประมาณ 120-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อสร้างทางเพิ่มใหม่อีก 1 ทาง ซึ่งอยู่ในแนวเขตทางเดิมบางส่วน โดยช่วงเด่นชัย-ลำปาง ระยะทาง 104 กิโลเมตร ช่วงลำปาง-เชียงใหม่ ระยะทาง 84 กิโลเมตร จัดเป็นทางระดับพื้นดิน 108 กิโลเมตร และทางยกระดับ 39 กิโลเมตร

สำหรับปีแรกของการเปิดให้บริการคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 1.2 หมื่นคน/วัน โดยในส่วนพื้นที่การเวนคืนนั้นจะพบว่ามีการเวนคืนในพื้นที่ที่เป็นที่ดินมีโฉนดประมาณ 502 แปลง คิดเป็นพื้นที่ราว 430 ไร่ และพื้นที่ในการดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจำนวน 128 แปลง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 227 ไร่ ล่าสุดนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยนำบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการ(แอกชันแพลน) ระยะที่ 2 คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ช่วงต้นปี 2561 นี้ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแถลงต่อผู้สื่อข่าวในคราวติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆของกระทรวงคมนาคมไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13