คัด 8 เมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน! รับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปี 61

12 พ.ย. 2560 | 06:32 น.
1316

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าแผนการพัฒนาโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อีกครั้ง พร้อมกับได้แถลงความชัดเจนภายหลังตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานในครั้งนี้ ว่า โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมหลายโครงการนั้น มีความคืบหน้าไปมาก โดยโครงการใหญ่เริ่มมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง ผลลัพท์ที่ได้ คือ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ มีผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน อีกทั้ง ยังส่งผลต่อการจัดอันดับประเทศที่น่าลงทุนของไทยที่ผ่านมาดีขึ้นอีกด้วย

| ขีดกรอบชัดเจน! เน้นโซนภาคตะวันออก |
การเยือนกระทรวงคมนาคมครั้งนี้ ยังทำให้มองเห็นภาพการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงการต่าง ๆ โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาตามแนวระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่, รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะควบรวมกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และแอร์พอร์ตลิงค์ เข้าไว้ด้วยกัน, การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2, สนามบินอู่ตะเภา, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ตลอดจนทางด่วน และมอเตอร์เวย์ ให้มีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ เฟส 2 คาดว่า จะสามารถเร่งประกาศเอกสารประกวดราคา (TOR) ในช่วงสิ้นปี เช่นเดียวกับ สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 และท่าเรือแหลมฉบัง ให้เร่งประกาศ TOR ได้ภายในไตรมาสแรก ปี 2561 เพื่อให้ได้ตัวผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างโดยเร็วต่อไป

ขณะที่ โครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก จำนวน 5 เส้นทาง ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว โดยหลังจากนี้ จะทยอยดำเนินการโครงการเฟส 2 ต่อเนื่องกันไป ส่วนโครงการรถไฟฯ ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา นั้น ระยะแรก 3.5 กิโลเมตร ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ยั่งมั่นใจว่า ช่วง พ.ย. หรือต้น ธ.ค. 2560 นี้ ที่จะเริ่มงานก่อสร้างได้ ก่อนที่จะทยอยดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อเนื่องกันไป


TP12-3311-A

| ปี 61 เบนเข็มไปพัฒนาภูมิภาค |
โดยในปี 2561 ได้ขอให้เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค 4 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต, ขอนแก่น, เชียงใหม่, นครราชสีมา ให้เริ่มก่อสร้างในปีหน้า พร้อมกับให้เร่งทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัด คือ อุดรธานี และพิษณุโลก เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางท่องเที่ยวและมีความแออัดของปริมาณจราจร โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับไปดำเนินการ

ในส่วนของการพัฒนาสนามบินนั้น ขณะนี้ คาดว่า แอร์บัสและการบินไทยจะสามารถลงนามเอ็มโอยูในเรื่องของศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกระทรวงคมนาคม หารือร่วมกันในการพัฒนาสนามบินเหล่านี้อย่างไร อาทิ สนามบินที่มีศักยภาพในอนาคต และสนามบินในภูมิภาค ซึ่งจัดเป็นโลคัลแอร์พอร์ตที่จะช่วยคอนเนกต์ด้านการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะช่วยเร่งรัดภายในเดือน พ.ย. นี้ ว่า ส่วนไหนให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ และส่วนไหนคมนาคมดำเนินการเอง

เช่นเดียวกับ ความคืบหน้าด้านการลงทุน ที่จะใช้งบประมาณจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF : Thailand Future Fund) จะแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะนำไปใช้ก่อสร้างโครงการทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง ได้ในช่วงต้นปี 2561 ต่อไป

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14

ประการสำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังได้ย้ำความชัดเจนโครงการที่จะบรรจุในแผนปฏิบัติการแอกชันแพลน ปี 2561 อีกว่า ในปีนี้ มีโครงการที่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ประมาณ 24 โครงการ โครงการที่ประกวดราคาแล้วเสร็จ จำนวน 27 โครงการ รวมทั้งหมด 51 โครงการ โดยจะมีโครงการใหม่ของปี 2561 จำนวน 8 โครงการ วงเงินลงทุน 1.03 แสนล้านบาท รวมเอาไว้ด้วย ซึ่งวงเงินลงทุนจากโครงการ ปี 2559 จำนวน 1.27 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2560 วงเงิน 1.02 ล้านล้านบาท

ดังนั้น หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อทิศทางการลงทุนระดับเมกะโปรเจ็กต์ รัฐบาลมีความชัดเจนที่จะกระจายงบประมาณไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่ ยังคงมีลุ้นกันอีกเฮือกในปี 2561 ต่อไป


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5-8 พ.ย. 2560 หน้า 12




ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13