โบรกฯใหม่‘Z.COM’ ญี่ปุ่นชูโมเดลออนไลน์ ให้มาร์จิน IPO-mai

09 พ.ย. 2560 | 07:37 น.
ธุรกิจโบรกเกอร์แข่งดุเดือด พันธุ์ใหม่ “จีเอ็มโอ-แซด คอม” เน้นดอกเบี้ยมาร์จิ้น ปล่อยเล่น IPO วันแรก พุ่งเป้าหุ้นตัวกลาง-เล็ก เตรียมทุน 1,000 ล้านบาท แผน 5 ปี กำไรกระฉูดตั้งแต่ปีที่ 2

นายเมกุมุ โมโตฮิสะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (Z)หรือ Z.COM โบรกเกอร์หมายเลข 10 เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในกลุ่มยักษ์ใหญ่ GMO Internet Group ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทในเครือกว่า 128 บริษัท ใน 16 ประเทศ โดย 9 บริษัทเป็นบริษัทในตลาด หลักทรัพย์โตเกียว พร้อมเปิดให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป

MP17-3311-A “กลุ่ม GMO มีส่วนแบ่งตลาดด้านซื้อขายหุ้นออนไลน์ อันดับ 5 ในญี่ปุ่น และเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน (FOREX) ส่วนแบ่งตลาด 20% ติดต่อกันมา 5 ปี ส่วนเหตุผลในการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เพราะเห็นโอกาสในการลงทุนสูงมาก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ตรงกลางของอาเซียน ไม่มีปัจจัยในประเทศที่น่าเป็นห่วงถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3-5% ต่อปี แต่เป็นการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว

นายประกฤต ธัญวลัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.จีเอ็มโอ-แซด คอมฯ กล่าวว่า ลูกค้าสามารถสมัครเปิดบัญชีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หรือมาสมัครด้วยตนเองได้ที่บริษัท โดยมีรูปแบบธุรกิจ ให้บริการซื้อขายออนไลน์เท่านั้น ผ่านบัญชีแคชบาลานซ์ และเครดิตบาลานซ์ มีรายได้หลักมาจากการปล่อยสินเชื่อในการซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิน) พร้อมมีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น เช่น ระบบหลังบ้านและระบบช่วยคัดกรองเกรดหุ้นในการพิจารณาให้มาร์จิน 5 อันดับคือ A-F มีการปรับปรุงข้อมูลทุกวัน ภายใต้หลักเกณฑ์การบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) การเรียกหลักประกันเพิ่ม (คอลล์) ที่เข้มงวดกว่าอุตสาหกรรม ทั้งนี้จากการทดสอบข้อมูลพบว่า จะสามารถให้มาร์จินในการซื้อขายหุ้นได้ประมาณ 500 บริษัท มีทั้งบริษัทขนาดกลางและเล็กรวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ด้วย

“ เราหาโอกาสจากตลาดที่ยังมีช่องว่างเหลืออยู่มาก ที่ญี่ปุ่นมีการใช้เทรดออนไลน์ถึง 90% ขณะที่ในเมืองไทยใช้ประมาณ 50% ส่วนมาร์จิ้นที่ญี่ปุ่นได้รับความนิยมมาก มีการใช้ประมาณ 70% ของไทย ใช้เพียง 15% ในญี่ปุ่นมีหนี้เสียตํ่ามากแทบจะเป็นศูนย์ บริษัทป้องกันปัญหานี้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่มีเรื่อง การเจรจาต่อรองหรืออะลุม อะล่วย การวางหลักเกณฑ์มาร์จิน ที่เข้มงวดกว่าภาพรวมน่าจะช่วยให้ลูกค้าเสียหายน้อยลง” นายประกฤตกล่าว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นายประกฤตกล่าวว่า บริษัทจับตลาดนักลงทุนระดับกลาง เพราะคิดค่าคอมมิสชันสูงกว่าตลาด คือ 100 บาท สำหรับการซื้อขายทุกๆ 1 แสนบาท ส่วนมาร์จินคิดอัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี สูงกว่าในตลาดที่เฉลี่ย 5-6% โดยจะให้มาร์จินสำหรับหุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดวันแรกด้วย จากปัจจุบันที่ไม่มีโบรกเกอร์รายใดให้มาร์จินไอพีโอวันแรก บริษัทไม่เน้นรายได้จากค่าคอมมิสชันมากนัก คาดว่าจะมีรายได้ถึงจุดคุ้มทุนภายใน 1 ปีครึ่ง ปีที่ 2 มีกำไรสุทธิ

นายเธียร ธนารักษ์โชค รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารการตลาดบล.จีเอ็มโอ-แซด คอมฯ กล่าวว่า ในปีแรกตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ 0.5% จะมีลูกค้าประมาณ 60 คน ใช้มาร์จินเฉลี่ย 5 แสนบาท/คน รวมเป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท มีบทวิเคราะห์ให้บริการ พร้อมจัดสัมมนาให้นักลงทุนผ่านสื่อต่างๆ ที่สำคัญพนักงานทุกคนจะต้องสอบผ่าน single license เพื่ออย่างน้อยจะมีความรู้เรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13