เงินไหลออกช่วงสั้นรับ‘พาวเวลล์’

09 พ.ย. 2560 | 04:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นักเศรษฐศาสตร์เตือนเงินทุนไหลออกช่วงสั้น กดเงินบาทอ่อนค่า รับว่าที่ประธานเฟดคนใหม่“เจอโรม พาวเวลล์” ไร้ผลกระทบอังกฤษขึ้นดอกเบี้ยรอบ 10 ปี

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญในการซื้อขายวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเลือกนายเจอโรม พาวเวลล์ ขึ้นเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยลเลน ที่จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2561

[caption id="attachment_227748" align="aligncenter" width="503"] เจอโรม พาวเวลล์ เจอโรม พาวเวลล์[/caption]

อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ของอังกฤษ หลังจากที่ธนาคารอังกฤษ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 0.5% ครั้งแรกในรอบ 10 ปี เป็นการส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินตึงตัวก่อนที่อังกฤษจะเข้าสู่ขั้นตอนการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit)

เงินบาทเคลื่อนไหววันศุกร์ในกรอบ 33.08-33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นจากวันก่อนหน้าที่เคลื่อนไหวในกรอบ 33.13-33.14 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าเทียบเงินเยนมาที่ 114.07 เยน เงินยูโรแข็งค่ามาที่ 1.166 ยูโร และเงินปอนด์แข็งค่าเล็กน้อยที่ 1.3065 ดอลลาร์ต่อปอนด์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงแรกที่นายพาวเวลล์ นั่งเก้าอี้ และผลักนโยบายการคลัง เช่นการปรับลดขนาดงบดุลได้เร็วขึ้นกว่าแผนจะเป็นปัจจัยให้เงินทุนไหลออกบางส่วน แต่ในระยะยาวเชื่อว่าเงินจะไหลกลับมาไทยและเอเชีย

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 “ถ้าพาวเวลล์เดินหน้าตามแนวคิดลดกฎระเบียบของกลุ่มแบงก์ได้น่าจะทำให้หุ้นของกลุ่มแบงก์ฟื้นและส่งผลเชื่อมโยงตลาดหุ้นในเอเชียจะรับอานิสงส์ฟื้นตัว เงินทุนไหลเข้ามากกว่าการไหลออก”

นายจิติพล คาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีก 1 ครั้งในเดือนธันวาคม และอีก 3 ครั้งในปีหน้า โดยจะเริ่มขึ้นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางอังกฤษ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปี จาก 0.25% เป็น 0.5% ในการประชุมรอบล่าสุดนั้น เป็นสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินโลกตึงตัวมากขึ้น เพราะแม้ภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษไม่อยู่ในระดับดีมาก และอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง แต่อังกฤษจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ขณะที่ผลกระทบต่อไทยนั้นยังไม่มีผลต่อดอกเบี้ย และนโยบายการเงินของไทย แต่ต้องติดตามผลที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และแนวโน้มของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษในอนาคต

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยที่นายพาวเวลล์ จะทำให้ตลาดมีความชัดเจนมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เนื่องจากมีแนวคิดสอดคล้องกับนางเยลเลน จะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ทิศทาง การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้การปรับงบดุลแบบค่อยเป็นค่อยไป และการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2561 และในปีนี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง จะทำให้เงินบาทปีหน้าอ่อนค่าเล็กน้อย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยเศรษฐกิจ ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ตลาดจะติดตามนโยบายของนายเจอโรม พาวเวลล์ ว่าจะส่งสัญญาณดอกเบี้ยอย่างไรในเดือนธันวาคมนี้ และการลดกฎระเบียบให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจคล่องตัวได้ ทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะส่งผลให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าในรอบต่อไป โดยเดือนธันวาคมนี้เงินบาทมีโอกาสผันผวนสูง แต่เงินบาทยังเคลื่อนไหวที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13