หนี้เสียเอสเอ็มอีเริ่มนิ่ง TMBคาดปีหน้า4.1%

06 พ.ย. 2560 | 23:00 น.
ทีเอ็มบี มองธุรกิจเอสเอ็มอีความเสี่ยงต่อระบบธนาคารลดลง เหตุหนี้เอ็นพีแอลเริ่มทยอยปรับลง คาดปีหน้าลดเหลือ 4.1% หลังแบงก์แก้หนี้ดี-สินเชื่อขยายตัวได้ 4.7% จับตากำลังซื้อฟื้น-สินค้าเกษตรดีช่วยเอสเอ็มอีฟื้นแข็งแกร่ง

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด หรือทีเอ็มบี เปิดเผยว่าแนวโน้มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปี 2561 มีความเสี่ยงต่อระบบธนาคารลดลง เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหากดูหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มนิ่งและปรับลดลง

AppBEN โดยตัวเลขในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้อยู่ที่ 4.6% คาดว่าทั้งปีจะลดลงอยู่ที่ 4.4% และปี 2561 ตัวเลขเอ็นพีแอลจะเหลือเพียง 4.1% ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อภาพรวมที่ขยายตัวดีขึ้น และการบริหารหนี้แก้ไขหนี้ของธนาคารที่ดีขึ้น ทำให้ความเสี่ยงจากเอสเอ็มอีลดลง ประกอบกับเอ็นพีแอลส่วนใหญ่ของธนาคารจะมาจากภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก
ทั้งนี้ธนาคารคาดการณ์อัตราการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2561 จะอยู่ที่ระดับ 4.7% จากปีนี้อยู่ที่ 4.3% จากสินเชื่อภาพรวมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 5.7% จากปีนี้อยู่ที่ 5% อย่างไรก็ตามสินเชื่อเอสเอ็มอี ถือเป็นกลุ่มที่ขยายตัวช้าและตํ่ากว่าสินเชื่อภาพรวม เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แม้ว่าจะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมาสนับสนุน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการเติบโตของกลุ่มเอสเอ็มอี เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก

สำหรับปัจจัยที่มีต่อการฟื้นตัวของเอสเอ็มอี นอกจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว จะต้องมาจากราคาสินค้าเกษตรและการจ้างงานที่ดีขึ้น ที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเอสเอ็มอีในประเทศ จึงต้องจับตาดูว่าเศรษฐกิจที่มีทิศทางฟื้นตัวจะแปลมาเป็นกำลังซื้อและการจับจ่ายในประเทศได้หรือไม่ ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าราคาสินค้าเกษตรในปี 2561 น่าจะเริ่มดีขึ้น และส่งต่อไปยังกำลังซื้อและการใช้จ่ายน่าจะดีขึ้นตาม โดยการบริโภคภาคเอกชนน่าจะเติบโตอยู่ที่ 3.1-3.2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% ภายใต้การคาดการณ์จีดีพีขยายตัว 3.8%

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 “ธุรกิจเอสเอ็มอีจะมองกำลังซื้อในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งจะมาจากค่าจ้างและสินค้าเกษตรเป็นหลัก โดยแนวโน้มในปี 2561 จะเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจมาจากภาคต่างประเทศผ่านการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี แต่ต้องดูการส่งผ่านของส่งออกไปสู่การใช้จ่ายแปรเป็นกำลังซื้อได้แค่ไหน แต่เชื่อว่าราคาสินค้าเกษตรน่าจะดีขึ้น และการส่งออกสู่การจ้างงานก็น่าจะทยอยดีขึ้น และมาตรการภาครัฐพยายามกระตุ้นการบริโภค หากทำผ่านช็อปช่วยชาติ เชื่อว่าจะช่วยเรื่องบริโภคแต่จะได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น”

นายเบญจรงค์ กล่าวอีกว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม (TMB SME Sentiment Index) ในไตรมาสที่ 3 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบันของผู้ประกอบการยังมีทิศทางลดลง โดยอยู่ที่ระดับ 37.3 จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 39.6 ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นทางด้านรายได้ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงชะลอตัวเนื่องจากอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้การจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการลดลง รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเคยสูงสุดก่อนสิ้นปีงบประมาณแต่กลับชะลอตัวลงในปีนี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านรายได้ลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนความเชื่อมั่นด้านต้นทุนทรงตัว

ขณะที่ความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 48.8 ส่วนหนึ่งมาจากเข้าสู่เทศกาลปลายปีทำให้การจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างคึกคัก ซึ่งจะช่วยเร่งยอดขายของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี สะท้อนความเชื่อมั่นในด้านรายได้ที่ปรับขึ้นจาก 56.7 มาอยู่ที่ระดับ 62.9 คาดภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีในไตรมาสที่ 4 น่าจะดีขึ้นตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13