รุมค้านภาษีอี-บิสิเนส

09 พ.ย. 2560 | 04:36 น.
สรรพากรรับเสียงค้านอื้อหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายภาษี e- business เร่งสรุปความคิดเห็น ก่อนส่งให้กฤษฎีกาพิจารณาร่วมร่างกฎหมาย

ความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นเข้ามาจำนวนมากทั้งบวกและลบ โดยเฉพาะคนที่สูญเสียประโยชน์จากร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะมองลบ

โดยเฉพาะคนที่สำแดงราคาสินค้าตํ่า เพื่อได้รับยกเว้นอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีราคาไม่ตํ่ากว่า 1,500 บาท ก็จะไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายจะยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาตํ่ากว่า 1,500 บาท เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อในไทยผ่านอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ เป็นไปอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตามกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการทำคำชี้แจงในประเด็นต่างๆที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเข้ามา เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประกอบร่างกฎหมาย เพื่อที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยเร็วเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือให้นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และในการประกอบกิจการโดยมีการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย มีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทยหรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรนั้น

MP24-3311-A นอกจากนั้น ยังกำหนดให้นิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการดังกล่าวอันเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ หรือประเภทที่กระทรวงกำหนด ให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายในอัตรา 15% และนำส่งกรมสรรพากร

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือให้บริการโดย การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ขายสินค้าไม่มีรูปร่างหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันของผู้อื่น กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันนั้นเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการดังกล่าว ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการ และเมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีสิทธิหน้าที่ และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการนั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-13