KBANKรับมือฟินเทค เทคโนฯราคาถูกบีบ รายได้ค่าต๋งหดต่อ

09 พ.ย. 2560 | 04:26 น.
“ปรีดี ดาวฉาย”ผวาปีหน้าภัยเทคโนโลยีคุกคาม ธุรกิจธนาคาร-ผู้ประกอบการหนักขึ้น แนะเร่งปรับตัวทั้งระบบ หลังรายได้ค่าธรรมเนียมหดต่อเนื่อง หากมาเต็มรูปแบบสินค้า-บริการราคาถูก กดความสามารถแข่งขัน ยํ้าไม่เร่งปิดสาขา เหตุลูกค้าบางกลุ่มยังใช้บริการเน้นผสมรูปแบบเสิร์ฟครบทุกมิติ

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) จะยกทีมผู้บริหารคณะใหญ่ นำโดย 3 กรรมการผู้จัดการ คือนายปรีดี ดาวฉาย นายพิพิธ เอนกนิธิ และนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย แถลงแผนธุรกิจปี 2561 ด้านต่างๆในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

[caption id="attachment_227749" align="aligncenter" width="503"] ปรีดี ดาวฉาย ปรีดี ดาวฉาย[/caption]

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ KBANK ที่จะแถลงในหัวข้อ ภาพรวมปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจธนาคาร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความเสี่ยงภาคธนาคารพาณิชย์ในปี 2561 ภาพใหญ่ยังคงเป็นเรื่องสินเชื่อ แต่จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ความเสี่ยงลดลง แต่ธนาคารยังให้ความระมัดระวัง เนื่องจากมีอุตสาหกรรมที่ดีและไม่ดี จึงต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของภาคธนาคารและสถาบันการเงินถือปฏิบัติ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ควรจะลดลงได้ เพราะสินเชื่อแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

สำหรับในปีนี้เป้าหมายสินเชื่ออยู่ที่ 4-6% และปี 2561 กรอบเติบโตสามารถปรับขึ้นและลงได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ เพราะเป็นกรอบประมาณการเช่นเดียวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 3.4% แต่สถานการณ์ดีขึ้น การส่งออกเติบโตดีเกินคาด ทำให้ตัวเลขจีดีพีน่าจะออกมาดีกว่ากรอบคาดการณ์เดิม โดยสิ้นปีนี้น่าจะเห็นการเติบโตได้ที่ 3.7% มาจากทุกภาคส่วนและภาครัฐพยายามทำเต็มกำลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับปี 2561 เศรษฐกิจภาพใหญ่น่าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่จะเข้ามามีผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์มากขึ้น จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี หรือ ฟินเทค (Financial Technology: Fintech) ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน โดยจะเข้ามาทำให้กระบวนการทำงานมีความรวดเร็วขึ้น ผู้บริโภคได้รับความสะดวกรวดเร็ว สินค้าและบริการราคาถูกลง

“เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาถึงจุดที่ส่งผลมากขึ้นจากราคาที่ถูกลง จะเห็นรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์ลดลง ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมเริ่มสะท้อนจากผลดังกล่าวออกมาแล้วระดับหนึ่ง เป็นสิ่งที่ธนาคารทั้งระบบจะต้องปรับตัวและหาแผนยุทธศาสตร์มารองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”

นายปรีดี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญต่อการปรับตัวของธนาคาร คือ พฤติกรรมผู้บริโภคว่าต้องการอะไร หากธนาคารไม่สามารถสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างครบถ้วน จะสูญเสียลูกค้าและรายได้ เช่น เรื่องของสาขา แม้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท แต่ลูกค้าบางกลุ่มที่ยังคงต้องการใช้สาขาหรือเดินเข้าสาขาเพื่อติดต่อพนักงาน หากธนาคารไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ การปิดสาขาเพื่อลดต้นทุนโดยสวนทางกับลูกค้าที่ยังต้องการใช้สาขาอยู่ จะทำให้ธนาคารสูญเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไปได้

ขณะเดียวกันการทำธุรกรรมบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการทำธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น โดยสูงกว่า 5 เท่าของธุรกรรมผ่านสาขาธนาคาร แม้จะสร้างรายได้ให้ธนาคารไม่มาก แต่ธนาคารยังต้องทำเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการ แต่ทำควบคู่กับการหารายได้ใหม่เข้ามาช่วย

ส่วนรูปแบบการบริการแบบดั้งเดิมผ่านสาขาธนาคารก็ยังหยุดไม่ได้ แต่ต้องผสมผสานการให้บริการรูปแบบใหม่ที่นำโดยเทคโนโลยีและรูปแบบบริการแบบเดิมโดยการเปิดสาขาเพิ่มคงไม่เห็นแต่อาจจะมีการโยกย้ายปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ตั้งตามพื้นที่เพราะพื้นที่จะมีการเปลี่ยน แปลงตามสังคมเมืองที่เกิดขึ้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1-14 ทางด้านเทคโนโลยีจะเห็นว่าธนาคารได้ออกเรื่องK-Plus และ K-Plus Shop เพื่อให้บริการลูกค้าที่มีความคุ้นเคยใช้เทคโนโลยี และหากลูกค้าเก่าที่ใช้บริการสาขาเริ่มมีความคุ้นกับเทคโนโลยีจะได้หันมาใช้บริการถือเป็นการปรับตัวรับ มือของธนาคารกับการเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับลูกค้าและผู้ประกอบการจะเห็นว่าเทคโนโลยีจะแฝงเข้ามากับการค้าขายโดยที่ไม่รู้ตัว หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวไปตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันเห็นว่ามีจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทันหรือไม่ปรับตัว จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการจะต้องทำเพื่อให้แข่งขันได้ และดึงประโยชน์จากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในธุรกิจ โดยต้องปรับทั้งวิธีคิด วิธีการผลิต ปรับโปรดักต์ และวิธีการทำงาน รวมถึงการสร้างตลาดใหม่ผ่านเทคโนโลยี จะช่วยให้ลูกค้าอยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

“เมื่อเทคโนโลยีมาถึงจุดหนึ่งที่ส่งผล จะสะท้อนไปยังค่าธรรมเนียมที่ลดลง ซึ่งตอนนี้เริ่มสะท้อนผลนั้นออกมาแล้วระดับหนึ่ง แต่แน่นอนแบงก์ก็ต้องพยายามหารายได้ใหม่เข้ามา ซึ่งก็กำลังหาอยู่ ส่วนสาขาคงไม่ได้ปิดเยอะแต่ก็คงไม่ได้เปิดเพิ่ม แน่นอนหากสาขาไม่เปิดเพิ่มคนก็อาจจะรับน้อยลง ส่วนคนที่มีอยู่ก็เทรนให้สามารถทำงานได้หลายอย่างดังนั้นความเสี่ยงของเทคโนโลยีที่เข้ามาธนาคารต้องปรับ ตัวรับและผสมผสานการบริการให้ครบทุกมิติความต้องการของลูกค้าและเชื่อว่าสถาบันการเงินทุกแห่งก็ดำเนินการเช่นกัน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว