‘อาข่า-ม้ง’ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เสน่ห์ล้านนาตะวันออก

12 พ.ย. 2560 | 13:55 น.
2050

ชาติพันธุ์ของเรานั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร’ หลากหลายประการ ทั้งการพระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัย, ส่งเสริมอาชีพให้ชาวเขาเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยไม่ปลูกฝิ่น รวมทั้งสร้างโรงเรียนเพื่อวางรากฐานทางการศึกษาให้กับเยาวชนชาวม้ง นายเน้ง แซ่โซ้ ชาวเผ่าม้ง ชุมชนบ้านแม่แรม จ.แพร่ เล่าถึงความประทับใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ อย่างหาที่สุดมิได้




MP28-3311-1a

ดินแดนล้านนาตะวันออก คือ หนึ่งแผ่นดินที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชาติพันธุ์ที่หลากหลาย อาทิ ชาวอาข่า, ชาวม้ง และชาวไทลื้อ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย มีชาติพันธุ์อาศัยอยู่กว่า 30 เชื้อสาย และถือเป็นจังหวัดที่มีชาติพันธุ์มากที่สุดในประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ เส้นทางการเดินเท้าผ่านการเข้ามาพำนักอาศัยในประเทศไทย ตามแนวชายแดนของ จ.เชียงราย, พะเยา, แพร่, น่าน จนถึงเพชรบูรณ์ ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้บ่มเพาะและสร้างอารยธรรมอันโดดเด่น หล่อหลอมเป็นเสน่ห์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ซึ่งกลิ่นอายดังกล่าว คือ ห้องเรียนที่สำคัญสู่การเรียนรู้เพื่อสัมผัสถึงมุมมองใหม่ ในแง่มุมของการสืบเชื้อสายบรรพบุรุษทางสายเลือดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณที่เหมือนกัน พร้อมกับอยู่อาศัยร่วมกันเป็นสังคมที่อุดมสมบูรณ์


MP28-3311-2a

นายประกาศิต เชอมือกู่ หรือ โยฮัน ในฐานะตัวแทนชุมชนอาข่าหล่อโย ต.ป่าตึง อ.แม่จัน นักพัฒนาคนรุ่นใหม่และเจ้าของอาข่ามัดเฮาส์ ทัวร์ เล่าให้เราฟังว่า ชาวอาข่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้วกว่า 110 ปี ในชุมชนของเรามีบ้านเรือนอยู่ 65 หลังคาเรือน มีสมาชิกเกือบ 300 คน อาชีพส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ส่วนตนนั้น หันมาทำธุรกิจท่องเที่ยวเต็มตัว ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอาข่ามาถ่ายทอดในหลากหลายแง่มุม เช่น ที่พักในรูปแบบบ้านดิน, อาหารพื้นเมืองแบบอาข่า ซึ่งวัตถุดิบหลักของอาหารทั้งหมดมาจากในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวดอย, ผักฟักแม้ว, ผักน้ำ และหนอนรถด่วน นอกจากนี้ ยังมีของฝากที่มาจากเครื่องแต่งกายของชนเผ่า เพื่อถ่ายทอดตัวตนและเผยแพร่ชาติพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย บนกรอบพื้นฐานความสุขใจ รวมถึงการมุ่งสร้างโอกาสให้กับเยาวชนในท้องถิ่นได้อาสามาเป็นมัคคุเทศก์, ส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดการที่ดี ทั้งในแง่ของการแยกขยะ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบ เพื่อสร้างเป็นป่าต้นน้ำ รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์รวบรวมประวัติชาวอาข่า ตลอดจนการละเล่นสุดคลาสสิก อย่าง ฟอร์มูล่าม้ง และการเดินแบบโทกเทก หรือ โถกเถก ซึ่งทำมาจากไม้ในท้องถิ่น โดยพร้อมปักหมุดให้หล่อโย่วแห่งนี้เป็น ‘ประตูวัฒนธรรมชาวอาข่า’ สอดรับกับชุมชนอาข่า บ้านหล่อชา ที่ยกระดับพื้นที่การอยู่อาศัยให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้แบบวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย การสาธิตการดักสัตว์, การละเล่นพื้นบ้าน อย่าง การแสดงกระทุ้งไม้ไผ่, การทอผ้าแบบอาข่า, การสร้างประตูผี รวมทั้งชมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่นำมาใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการสาธิตการโล้ชิงช้า พร้อมกันนี้ ยังมีธนาคารชุมชนและร้านขายของฝาก โดยส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือจำพวก สร้อย, เสื้อ, กระเป๋า จากชาวอาข่าในชุมชน ถือเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านความเป็นอยู่ของชาวอาข่าได้อย่างครอบคลุม ทั้งในแง่ความเชื่อ, ประเพณี และนัยสำคัญ คือ รอยยิ้มแห่งความสุขในการถ่ายทอดความเป็นมาของชาติพันธุ์ของตนได้อย่างภาคภูมิใจ


MP28-3311-3a

จากอาข่าเชื่อมโยงสู่ชาติพันธุ์ม้ง โดยชาวเขากลุ่มดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีนตามแนวชายแดน บรรพบุรุษมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนแถบมองโกเลีย คาดว่า อยู่แถวบริเวณที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง เพราะลักษณะทางกายภาพที่บ่งชี้เด่นชัด คือ เส้นผมที่มีโทนสีอ่อน ออกน้ำตาลบรอนซ์ ปัจจุบัน ชาติพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทยมีประมาณ 8 หมื่นกว่าคน


MP28-3311-4a

ทั้งนี้ ในมุมมองอื่น ๆ อาทิ การสื่อสาร ใช้ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต แต่ชาวอาข่าใช้ภาษาทิเบต-จีน, ด้านเครื่องแต่งกาย ชาวม้งเป็นชุดประจำเผ่า ซึ่งถักด้วยลวดลายแบบม้ง ที่แสดงออกถึงความงดงามของธรรมชาติ อาทิ ดอกไม้ โดยนำมาใส่คู่กับเครื่องประดับที่ทำจากเงิน, สำหรับสถาปัตยกรรม บ้านแบบม้ง โครงสร้างภายนอกเป็นไม้ทั้งหมด เหมือนกับชาวอาข่า แต่ภายในตกแต่งด้วยดิน อัดแน่นทำเป็นพื้น, วัฒนธรรมอาหาร ทั้งอาข่าและม้งนั้น ทานข้าวด้วยขันโตก เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องเรือนสานจากไม้ไผ่ ใช้ตะเกียบเป็นภาชนะหลักในการรับประทานอาหาร, ในส่วนของประเพณี มีการละเล่นลูกข่างและการละเล่นโยนลูกช่วง โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในทุกปีและมีชาติพันธุ์อื่น อย่าง อาข่า มาร่วมชมการละเล่นด้วยกันอย่างเชื่อมโยงและผูกพัน


MP28-3311-5a

การเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ‘ชาติพันธุ์’ เป็นเพียงหนึ่งบทของเสน่ห์ล้านนาตะวันออก ที่ทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย รวมทั้งภาคีเครือข่าย ได้ร่วมบูรณาการและจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่าง Agent & Media FAM Trip เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวไทยในสไตล์ท้องถิ่น (Local Experience) ให้เกิดความหลากหลาย ซึ่งดินแดนภาคเหนือตอนบน ทั้งเชียงราย, พะเยา, แพร่, น่าน ล้วนแล้วแต่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยคุณค่าเชิงวัฒนธรรม, ศาสนา, ศิลปะ, ธรรมชาติ, อาหารพื้นเมือง, ผักและผลไม้จากยอดดอย และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทั้งหมดพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความสุขใจในทุกอณูความรู้สึกอย่างแท้จริง “มาฮักกันนะที่ ... เชียงราย”


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5-8 พ.ย. 2560 หน้า 28

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว