จากเลนส์สู่เรื่องราว บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 10

09 พ.ย. 2560 | 10:00 น.
MP26-3311-8a วันแรกที่ได้ทราบข่าวการเสด็จ สวรรคตของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คุณพ่อคุณแม่ผมและพี่สาวมุ่งตรงไปที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศจำนวนมหาศาลทำให้พวกเราเข้าถึงพระองค์ได้ใกล้ที่สุดแค่เพียงปลายสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า วันนั้นผมหยิบกล้องคู่ใจพร้อมกับเลนส์ที่มีกำลังซูมได้ไกลติดไปด้วยแต่ด้วยมุมมองที่ไม่สามารถถ่ายภาพได้ วันนั้นผมจึงเก็บภาพได้เพียงในหัวใจและความทรงจำ ต่อมาไม่นานก็เกิดความคิดว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานอย่างหนักมาตลอด 70 ปี โดยใช้ความรู้ความสามารถของเรา ให้เป็นประโยชน์และไม่เดือดร้อนคนอื่น

MP26-3311-1a ผมมองไปรอบๆ ห้องก็เห็นกระเป๋ากล้องและอุปกรณ์ครบมือ และนึกย้อนไปถึงองค์ความรู้ที่เราจะพอสามารถทำได้ พลางนึกถึงช่วงเวลาที่ประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่พระบรมมหาราชวังเพื่อกราบสักการะพระบรมศพ จึงคิดได้ว่าอยากให้ประชาชนได้มีภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ และจะได้นำความรู้เรื่องการถ่ายภาพที่ได้เรียนจากวิทยาลัยสารพัดช่าง พระนคร ให้เกิดประโยชน์เสียที ผมจึงเอาความคิดนี้มาบอกคุณพ่อกับคุณแม่ พอคุณพ่อได้ฟังความคิดของเราก็ตอบตกลงทันที ตั้งแต่วันนั้นผมและพี่สาวในชุดนักเรียนพยายามเดินทางมายังพระบรมมหาราชวัง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อเก็บรอยยิ้มและความทรงจำของประชาชนคนไทยที่รักพระเจ้าอยู่หัวให้ได้มากที่สุด

MP26-3311-3a กฎของแรงดึงดูดทำให้ต่อมาผมได้มีโอกาสพบกับคุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน ที่พาพี่ๆ นักเรียนมาถ่ายภาพเช่นเดียวกัน ด้วยเป้าหมายที่ตรงกันและมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักนำหัวใจ ผมและพี่สาวได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายช่างภาพเยาวชน กรมศิลปากร เต็มตัว การได้รับโอกาสให้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง พื้นที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานประณีตศิลป์ และพระราชพิธีต่างๆ คือสิ่งที่ผมเด็กชายที่มีอายุเพียง 11 ปี และกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตัวเล็กๆ คนนี้ภูมิใจที่สุด ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานถวายพระองค์อย่างสุดความสามารถ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ต้องทำงานที่หนักขึ้นแต่การทำงานหนักก็ทำให้รู้ว่าพระองค์ท่านทำงานให้ประชาชนมากว่า 70 ปี สภาพอากาศและสถานการณ์ที่เราต้องเจอทั้งแดดร้อน ฝนตกหนัก หรือการรอคอยเป็นเวลานานความเหนื่อย ก็ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อแผ่นดินไทย

MP26-3311-2a การได้รับโอกาสให้เป็นเครือข่าย ช่างภาพเยาวชน กรมศิลปากร คือแรงกดดันสำคัญให้ผมระลึกเสมอว่าต้องทำให้ดีที่สุด ต้องได้มุมภาพที่สวยที่สุด แสงสวยที่สุด ถ้าต้องลุยโคลนหรือต้องเปียกฝนก็ต้องเก็บภาพนั้นมาให้ได้ แม้ว่าขีดจำกัดของผมคือ ผมค่อนข้างตัวเล็กทำให้มุมกล้องตํ่าต้องหาอุปกรณ์ช่วยชูกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่ตั้งใจ ซึ่งพระเมรุมาศ ราชรถ และราชยานต่างๆ ในพระราชพิธี มีความยิ่งใหญ่และสอดคล้องกับคติความเชื่อโบราณ การเลือกมุมและองค์ประกอบภาพถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะว่าจะเเเสดงให้เห็นถึงเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญ คือต้องแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ที่หลอมรวมความจงรักภักดี ของคนไทยทั้งแผ่นดินไว้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อในอนาคตเมื่อย้อนกลับมาดูภาพก็จะทำให้กลับมามีความรู้สึกเดิมๆ อีกครั้ง

MP26-3311-4a การเดินทางไปบันทึกภาพในสถานที่ต่างๆ นอกจากพื้นที่ท้องสนามหลวง แล้วยังรวมถึง สำนักช่างสิบหมู่ บ้านโอ่ง จังหวัดราชบุรี และโรงเรียนศิลปะธนบุรี ทำให้นอกจากการถ่ายภาพแล้วยังได้รับความรู้สึกถ่ายทอดมาในการกดชัตเตอร์แต่ละครั้ง ความรักต่อในหลวง ปรากฏออกมาด้วยหัวใจและแววตาเดียวกัน และเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นคนไทยรักกันไม่ขัดแย้ง มองไปในทางเดียวกัน ซึ่งพระองค์เคยสอนเรื่องของความสามัคคีเป็นเรื่องที่สำคัญ และผมคิดว่าจะทำตามคำสอนของพระองค์ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงสอนคนไทยล้วนคือความจริง และสุดท้ายก็คือความสุขที่ไม่สามารถซื้อได้

[caption id="attachment_227270" align="aligncenter" width="503"] MP26-3311-6a เรื่องและภาพ: เด็กชายธารา ใจอ่อน โรงเรียนสารสาสน์ธนบุรี เรียบเรียง: บุรฉัตร ศรีวิลัย[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว