‘นายช่างของแผ่นดิน’ ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมสุดท้ายในรัชกาลที่ 9

09 พ.ย. 2560 | 07:47 น.
MP25-3311-2a “การเดินบนเส้นทางสายสถาปัตยกรรมไทยทำให้ผมต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ผมไม่เคยกลัวที่จะถาม ไม่เคยกลัวที่จะบอกใครว่าเราไม่รู้ อีกประการหนึ่งคือผมไม่เคยปฏิเสธงาน ผมรับงานทุกอย่างมาทำเพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนาตัวตนของเราให้เร็วขึ้น ทั้งความเร็วของมือในการสเกตซ์ ความเร็วของสมองในการคิดงาน เมื่อมีงานมากขึ้นเราจะวางแผนเยอะขึ้น แต่ละงานเราจะรู้ได้ทันทีว่าเราจะต้องเรียนรู้อีกมาก เครื่องมือในการเรียนรู้ที่ไวที่สุดคือ “บันไดงาน” ผ่านกรอบวิธีคิด กระบวนการทางวิชาการ และมีครูที่ดีเป็นผู้กำกับ ”

ย้อนไปราว 50 ปีก่อนในหมู่บ้านทุ่งควาย ต.เขาโร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำสวนยางและชักลากไม้กำลังวุ่นวายอย่างหนัก เพราะบุตรคนที่ 7 ครอบครัว “ทองผุด” กำลังจะออกมาลืมตาดูโลกในไม่ช้า แต่ไม่ว่าจะเป็นหมอตำแย หรือแพทย์ประจำอำเภอก็ยังไม่สามารถทำคลอดได้ จนทารกน้อยอยู่ในขั้นวิกฤติต้องเดินทางด้วยระยะทางรวมเกือบ 100 กิโลเมตร บนถนนลูกรังและสองข้างทางที่ยังเต็มไปด้วยแนวป่าเข้ามายังโรงพยาบาลในอำเภอเมือง ซึ่งมีความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์มากกว่า การคลอดในวันที่ 11 ตุลาคม 2510 ครั้งนั้นประสบความสำเร็จ แต่เด็กชายเกือบจะไม่ได้กลับบ้านเพราะผู้เป็นพ่ออยากได้ลูกสาว จึงนำลูกชายไปแลกกับอีกครอบครัวที่คลอดในวันเดียวกัน แต่คุณแม่แย้ม ทองผุด จำผ้าถุงที่ห่อหุ้มลูกน้อยได้เสียก่อน เด็กชายวัยแรกเกิดจึงได้กลับสู่อ้อมอกของแม่ดังเดิม ระหว่างเดินทางกลับอำเภอทุ่งสง พระสงฆ์ที่นั่งรอในคิวรถเดียวกันก็ทักว่า เด็กคนนี้เขาอยากเกิดในเมือง อยากเกิดใกล้พระธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ต่อไปจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง และได้ตั้งชื่อให้เด็กชายวัยแรกเกิดผู้นี้ว่า “ก่อเกียรติ” จึงแตกต่างจากพี่ๆ โดยที่มาของชื่อนั้นตั้งตามพระเอกและนางเอกหนังตะลุงซึ่งได้รับความนิยมในสมัยนั้น

หากรูปแบบสถาปัตยกรรม “ย่อมุมไม้สิบสอง” คือลักษณะการก่อสร้างอันแสดงถึงศิลปะอันงดงามแล้ว ชีวิตของคุณก่อเกียรติ ทองผุด กว่าจะถึงวันที่ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศในฐานะผู้ออกแบบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ผ่านอุปสรรคและจุดหักเหในชีวิตมากมาย จนเกือบต้องลาออกจากโรงเรียนมาทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงวัวควายอยู่กับบ้าน“คุณพ่อผมเสียชีวิตตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้น ม.3 แต่ด้วยผลการเรียนที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของชั้นเรียนมาโดยตลอดพี่ชายและน้าชายจึงตัดสินใจส่งเรียนต่อ ในชีวิตการเรียนนั้นผมต้องประหยัดที่สุดวิธีไหนที่พอจะลดค่าใช้จ่ายได้ผมทำหมด ผมเลือกรับโควตาเรียนต่อที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช แม้จะไม่ทราบว่าตอนนั้นการเรียนศิลปะเป็นการเรียนรูปแบบไหน รู้แต่เราชอบงานศิลปะ ชอบงานจิตรกรรม และการรับโควตาทำให้เราประหยัดค่าหนังสือ ค่าชุด ค่าเดินทางเพื่อไปสอบในอำเภอเมือง ชีวิตของผมจึงเริ่มต้นอยู่บนเส้นทางศิลปะนับแต่นั้นเป็นต้นมา”

หลังจากเรียนจบศิลปะที่ จ.นครศรีธรรมราช คุณก่อเกียรติเดินทางตามความฝันของพ่อที่ต้องการให้ลูกทุกคนได้ไปเรียนในกรุงเทพฯ จึงเข้ามาศึกษาต่อระดับ ปวส. สาขาจิตรกรรมสากล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง ต่อด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และสอบเข้ารับราชการตำแหน่งนายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ระหว่างนั้นคุณก่อเกียรติได้เรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปพร้อมๆ กัน

“ศิลปกรรมไทย สถาปัตยกรรมไทย หรือรายละเอียดต่างๆ ของไทยนั้นไม่ใช่เอาเถ้าถ่านมา เอาอดีตออกมา แต่เราเอาเปลวเพลิงมาสู่ความรุ่งโรจน์ นำสิ่งอันทรงคุณค่าและพลังของคนไทยมาพัฒนาและสืบต่ออย่างทรงคุณค่า”

MP25-3311-1a คือคำสอนของ ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่คุณก่อเกียรติจำได้อย่างแจ่มชัด นำความตั้งใจมาสู่การทุ่มเทแรงกายอย่างสุดความสามารถเรียนรู้งานในสำนักสถาปัตยกรรม งานที่คุณก่อเกียรติซึ่งเติบโตมาในสายจิตรกรรม และสายวิชาการด้านศิลปะ ต้องเรียนรู้และพยายามอย่างสุดความสามารถ จนฝีมือการเขียนแปลนรูปด้าน รูปตัดงานซ่อมแซมโบสถ์ วิหาร และอาคารในการดูแลของกรมศิลปากร ไปสะดุดสายตาของ พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรมในตอนนั้น

“ท่านอาวุธ คือโรงเรียนของผม ท่านมีองค์ความรู้ทุกอย่างอยู่ที่ท่านหมดและเป็นต้นแบบในแนวทางที่เราอยากจะเป็น ท่านบอกเสมอว่าเมื่อมีโอกาสทำงานแล้ว ไม่ใช่แค่ทำให้ดีที่สุด แต่ต้องทำให้เสร็จ แม้งานดี ไม่ทันเวลา ค่าไม่มี เมื่อได้รับความไว้วางใจจากท่านให้ทำงาน งานจะยากแค่ไหนยิ่งเป็นบันไดฝึกวิชาเชื่อมองค์ความรู้พัฒนาความสามารถของเราได้ไวแค่นั้น เราต้องดิ้นรนเพื่อให้ไปอยู่ในจุดที่แสงพระอาทิตย์ส่องถึง ต้องวางตัวเองให้ถูกที่ถูกทาง ถ้ามัวแต่นั่งรอให้พระอาทิตย์ส่องหาตัวเองผมคงไม่มีวันนี้”

จุดเริ่มต้นจากฝีมือ ลายเส้น และวิธีการทำงานที่พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาทำให้คุณก่อเกียรติได้รับมอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ จากเส้นร่างต้นแบบของท่านอาวุธ สู่การคัดเส้นและแต่งเติมองค์ประกอบโดยนายช่างที่ชื่อก่อเกียรติ การเป็นลูกมือเป็นแขน เป็นขาที่รู้ใจการทำงานของท่านอาวุธเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนมาถึงโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต กับการสัมผัสงานพระเมรุครั้งแรกในฐานะนายช่างที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับการมอบหมายให้ออกแบบศาลาลูกขุน อาคารประกอบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี 2539 ช่วงเวลานั้นเองที่คุณก่อเกียรติ จำเป็นต้องตัดสินใจยุติการเรียนปริญญาโท เพื่อสานต่อความฝันการเป็นนายช่างศิลปกรรมไทยด้วยการมุ่งเรียนรู้และศึกษางานจากบรมครูด้านงานสถาปัตยกรรมไทย “พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น” อย่างเต็มความสามารถ ต่อยอดสู่งานสถาปัตยกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย จนถึงวันที่แสงทองจากฟ้าสาดกระทบหัวใจที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อแผ่นดิน จากนายช่างศิลปกรรมผู้ติดตามท่านอาวุธเข้าประชุมงานพระราชพิธีกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากผู้ช่วยที่ไม่เคยมีเก้าอี้ ไม่มีบทบาทในห้องประชุม นั่งกับพื้นคอยจดรายละเอียดการแก้ไขในส่วนต่างๆ ของงานพระเมรุที่กำลังเกิดขึ้น สู่การได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้เป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย

บาร์ไลน์ฐาน ภายใต้ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของแผ่นดินที่ติดต่อกันมาหลายสิบปี สิ่งหนึ่งที่คุณก่อเกียรติให้ความสำคัญสูงสุดคู่ขนานคือ “ครอบครัว” เมื่อครั้งคุณแม่ยังมีชีวิต ในยามกลางคืนที่เรากำลังนอนหลับอย่างสบาย ชายผู้นี้กำลังนั่งทำงานเขียนแบบอย่างแน่วแน่ มีเป้าหมายคือก่อนหกโมงเช้าของทุกวันจะได้โทรไปถามคุณแม่ว่าวันนี้ทำอาหารอะไรสำหรับตักบาตรพระ หลังจากนั้นเขาก็จะสามารถปล่อยงานและพักสายตาลงได้ขณะหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงที่งานเริ่มมีผู้สานต่อหรือดำเนินการต่อได้คุณก่อเกียรติพร้อมมอบเวลาที่มีให้กับบุตรชายสุดที่รักในทันที คุณก่อเกียรติบอกกับเราว่า “งานอย่างอื่นผมออกแบบได้หมดแล้ว เหลือแต่การออกแบบลูกของเราเอง แล้วลูกของเราถ้าเราออกแบบไม่ถูกเราไม่สามารถลบเส้นหรือวาดเส้นใหม่แทนที่ได้เลย เหมือนกับการแข่งวิ่งผลัด แล้วเราเผลอทำไม้ตก เราก็ไม่อาจถึงคำว่าชัยชนะได้เช่นกัน”

ภาพพระเมรุมาศที่สง่างามสมพระเกียรติตามหลักโบราณราชประเพณี สัดส่วนที่ลงตัวสมมาตรรับกับอาณาบริเวณและบริบทโดยรอบเต็มไปด้วยเส้นแกน เส้นฉาก อันเป็นเส้นที่มองไม่เห็นมากมาย เช่นเดียวกับเส้นทางชีวิตของคุณก่อเกียรติ ทองผุด ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ได้รับใช้แผ่นดินอย่างเต็มความสามารถคือการผนวกรวมของเส้นประสบการณ์ที่ผ่านการฝึกปรือมานับหมื่น นับแสนครั้ง เพื่อวันอันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน งานสถาปัตยกรรมสุดท้ายน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่สวรรคาลัยตลอดกาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว