นิทรรศการพระเมรุมาศ พลังแห่งศรัทธาในหลวง ร.๙

09 พ.ย. 2560 | 07:59 น.
MP22-3311-5A นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสำหรับพสกนิกรไทยและชาวต่างชาติ ที่จะมีโอกาสได้เข้าชม “นิทรรศการพระเมรุมาศพิมานนฤมิต สรรพศาสตร์ศิลป์พร้อม น้อมถวายพระราชาผู้ทรงธรรม” เพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และซาบซึ้งถึงพลังแห่งความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ในการจัดสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่สร้างได้อย่างสมพระเกียรติ สะท้อนมรดกแห่งสถาปัตยกรรมไทยและขนบธรรมเนียมตามโบราณราชประเพณี

MP22-3311-11A พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สีทองอร่ามดุจดั่งทอง สูง 50.49 เมตร บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดตรงกลางเป็นบุษบกใหญ่ยอดประสาท 7 ชั้นเชิงกลอน เปรียบเสมือนยอดเขาทั้ง 7 ของสัตตบริภัณฑ์คีรี นับว่าเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด จากที่ผ่านมาการสร้างพระเมรุมาศจะมีเพียง 5 ชั้นเชิงกลอน รวมถึงสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และภูมิทัศน์โดยรอบบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ หรือราว 2ใน 3 ของพื้นที่สนามหลวง ช่างงดงามดั่งสมมติเทวพิมาน

MP22-3311-3A อันเป็นไปตามคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ มีสถานะเป็นสมมติเทพ เมื่อเสด็จสวรรคต ตามคติไตรภูมิในคัมภีร์พุทธศาสนา สวรรค์อันเป็นที่สถิตของเทวดานั้น อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล ฐานชาลาชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของพระจิตกาธาน ประดับฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศ เป็นภาพเขียนพระนารายณ์อวตาร และจิตรกรรมเทวดาน้อมรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์

MP22-3311-8A ส่วนชั้นชาลาต่างๆ ที่ลดหลั่นลงไป จะเห็นประติมากรรม 4 มหาเทพ พระอินทร์ พระอิศวร พระนารายณ์ พระศิวะ บุษบกน้อยทั้ง 4 องค์ โดยมีครุฑพนมมือและเทวดาเฝ้า 132 องค์ คชสีห์และราชสีห์ เฝ้าบันไดทุกทิศ ประติมา กรรมท้าวจตุโลกบาล 4 ทิศ ได้แก่ ท้าวเวส สุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ และชั้นล่างสุด จะประกอบด้วยสระอโนดาต ซึ่งมีช้าง 10 ตระกูลในป่าหิมพานต์ และสัตว์ประจำทิศทั้ง 4 คือ ช้าง ม้า โค และสิงห์ ที่มีความหมายเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ รายล้อมอยู่เบื้องล่าง

MP22-3311-7A ทั้งตำแหน่งจุดกึ่งกลางพระเมรุมาศครั้งนี้ ยังออกแบบตามแนวคิดของจักรวาลวิทยา ใช้จุดตัด แนวแกนที่โยงจากสถานที่สำคัญ 2 แห่ง เราจึงมองเห็นพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัดกับแกนจากพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ราชวรมหาวิหาร

MP22-3311-12A ภูมิทัศน์ด้านหน้าพระเมรุมาศ สื่อความหมายถึงพระอัจฉริยภาพ พระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ผ่านโครงการตามพระราชดำรินานา อาทิ โครงการแก้มลิง กังหันชัยพัฒนา ฝายนํ้าล้น เกษตรทฤษฎีใหม่ นาข้าวที่มีขอบคันนาออกแบบเชิงเป็นเลข 9 ไทยและรูปปั้นสุนัขทรงเลี้ยงคุณโจโฉและคุณทองแดง

MP22-3311-10A สถาปัตยกรรมและประติมากรรมอันวิจิตรสมพระเกียรตินี้ ภายใน “ศาลาลูกขุน 6 หลัง” ซึ่งนิทรรศการเล่าเรื่องราวเบื้องหลังและขั้นตอนการทำงานไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ ณ “สมมติเทวพิมาน” จากแบบขยายสู่การก่อสร้าง ณ “วิธานสถาปกศาลา” บอกเล่าขั้นตอนการออกแบบพระเมรุมาศ จากแบบร่าง 777 แผ่น พัฒนาเป็นแบบขยายกว่า 200 แบบ ต้นทางการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ 28 หลัง โดยเฉพาะขั้นตอนการออกแบบเท่าจริงลงบนกระดาษขนาดใหญ่เพื่อ ตรวจทานมิให้รูปแบบผิดเพี้ยน

MP22-3311-9A “สวรรค์บรรจงวาด” จำลองภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงทั้ง 4 ด้านให้ได้ชื่นชมรายละเอียด “ยาตรากฤษฎาธาร” จัดแสดงเรื่องราวการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศในพระราชพิธี และ “ตระการวิจิตรศิลป กรรม” ที่เล่าถึงงานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี อาทิ ขั้นตอนการสร้างพระโกศจันทน์ พระโกศ ทรงพระบรมอัฐิทองคำลงยา การจัดแสดงแบบเครื่องสังเค็ดและตัวอย่างงานเครื่องสดที่จัดทำขึ้นสำหรับงานพระราชพิธีในครั้งนี้ด้วย

อีกทั้งบริเวณทับเกษตร ยังมีการจัดนิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตา ที่เรียกว่า “นำสัมผัสพระสุเมรุ” ที่จะมีพระเมรุมาศจำลองขนาดย่อส่วนให้สัมผัส และผังบริเวณมณฑลแบบ นูนตํ่าให้ผู้พิการได้สัมผัสและเสียงบรรยายประกอบความเข้าใจ

MP22-3311-1A สำหรับพื้นที่ไฮไลต์อีกจุด คือ “บริเวณพระที่นั่งทรงธรรม” ซึ่งสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกออก แบบองค์ประกอบอาคารให้มีฐานานุศักดิ์สูง เช่น เครื่องลำยอง ที่มีใบระกาแบบ “ฝักเพกา” ที่เรียบคม มีสันกลาง ดาวเพดานเหนือที่ประทับใช้เทคนิค งานซ้อนไม้อย่างประณีต ขณะที่ดาวเพดานของบริเวณอื่น ใช้การฉลุทองย่นสาบสีเป็นอาคารสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ประทับทรงธรรมและประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ และเป็นที่นั่งสำหรับพระราชอาคันตุกะ

MP22-3311-2A ที่นี่จะเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ และจิตรกรรมเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ติดตั้งบนผนังขนาดใหญ่ 3 ผนัง เรื่องราวเมื่อครั้งทรงบำเพ็ญพระราชธรรม การทรงงานด้านต่างประเทศ นำมาซึ่งสัมพันธไมตรีที่ดีกับมิตรประเทศ และประมวลภาพเกี่ยวกับเรื่องราวยามพระจักรีนิวัตฟ้า

MP22-3311-13A นอกจากนี้ยังจะมีการจัดแสดงมหรสพและการแสดงชุดต่างๆ อาทิ การแสดงเรื่องอิเหนา, พระมหาชนก, พระสุธน-มโนราห์และการแสดงชุดต่างๆ ที่ไม่ซํ้ากันในแต่ละวัน ในช่วงเย็นด้วย โดยนิทรรศการพระเมรุมาศ จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. ของทุกวัน รอบละ 5,500 คน ใช้เวลารอบละ 45 นาที-1 ชั่วโมง คาดว่าแต่ละวันจะมีผู้เข้าชมราว 1 แสนคน และประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการ จะได้รับแผ่นพับนำชมนิทรรศการ ซึ่งจัดทำทั้งหมด 3 ล้านฉบับ ประกอบด้วย ภาษาไทย อังกฤษ และจีน และโปสการ์ดที่ระลึกภาพพระเมรุมาศ 9 แบบ จำนวน 3 ล้านแผ่น และกระทรวงวัฒนธรรม ยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมโรงราชรถและพระยานมาศได้อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว