เบื้องลึกฟ้าผ่ากระทรวงแรงงาน ลุ้นปรับใหญ่ครม.

05 พ.ย. 2560 | 07:48 น.
หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งคสช.ที่ 48/2560 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ให้นายวรานนท์ ปีติวรรณ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน และให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน สลับตำแหน่งกับนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ที่ลุกจากเก้าอี้รองปลัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางานแทน ส่งผลบรรยากาศการเมืองเดือดทันควัน โดยพุ่งเป้าไปที่กระทรวงแรงงาน ที่ถูกฟ้าผ่าประเดิมเป็นกระทรวงแรก

อุณหภูมิความร้อนในกระทรวงแรงงานพุ่งในระดับสูงสุด ถึงขั้น พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องบึ่งไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลอย่างร้อนรน ก่อนที่จะมีรายงานว่า พล.อ.ศิริชัย ได้ยื่นหนังสือ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านทาง พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเนื่องจากต้องรอกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ตามระเบียบราชการเท่านั้น

ขณะที่นายวรานนท์ ที่ถูกพิษ มาตรา 44 เด้งไปนั่งรองปลัดกระทรวงแรงงานโดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุมาก่อน ยังคงทำหน้างุนงงกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ส่วนทางทีมงาน พล.อ.ศิริชัย ต่างตกอยู่ในบรรยากาศตึงเครียดไม่แพ้กัน หลังมีหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ของ พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ซึ่งเป็นทั้งมือขวาและเพื่อนสนิทของ พล.อ.ศิริชัย ตั้งแต่ครองยศร้อยเอก ถูกเผยแพร่ไปทั่วกระทรวงแรงงาน

ในห้วงเวลาเดียวกันมีการยืนยันอีกว่า ทีมที่ปรึกษาทางการเมืองของ พล.อ.ศิริชัย ประกอบด้วย พล.ท.ธนิต พิพิธวนิชยการ เลขานุการรมว.แรงงาน และนายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง และมีการขนของใช้ส่วนตัวออกจากกระทรวงแรงงานในวันเดียวกัน

TP14-3311-1A ปฏิบัติการย้ายฟ้าผ่า นายวรานนท์ ครั้งนี้ หากย้อนไปดูเหตุผลตามเอกสารราชการ ระบุว่า “เป็นการย้ายในกรณีพิเศษ อันจะเป็นประโยชน์ในการบริหารราชการในกระทรวงแรงงานและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมยิ่งขึ้น” จึงเป็นประเด็นนำมาสู่การตั้งข้อสงสัยของสังคมถึงเหตุผลในการเด้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงแรงงาน เพราะบุคลิกเป็นคนโผงผาง พูดจาตรงไปตรงมาของนายวรานนท์ หรือที่คนในกระทรวงแรงงานเรียกว่า “อธิบดีเป็ด” (ชื่อเล่นของนายวรานนท์) เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ข้าราชการสามารถปรับตัวได้ ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ปัญหาการทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีประสิทธิภาพและขาดความชัดเจน ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่เข้าใจขั้นตอน ซึ่งยุ่งยากและมีหลายขั้นตอนเกินไป ทำให้เกรงว่าจะไม่ทันกำหนด การบังคับใช้แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2561 จนเกรงว่าอาจจะดำเนินการไม่ทันตามที่กฎหมายกำหนด

“หากรัฐบาลขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไม่ทันตามกำหนด ปัญหาที่ตามมาก็คือ ภาคธุรกิจจะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก จนหาคนทำงานไม่ได้ โดยเฉพาะแรงงานประมง ที่ส่วนใหญ่มาจากแรงงานกัมพูชา แรงงานกลุ่มนี้ไม่มีฐานข้อมูลที่แท้จริง ถ้าแรงงานกัมพูชากลับประเทศ จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเราพังไปด้วย เพราะคนไทยไม่ออกเรือไปทำประมง ทำให้ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้กำหนดนโยบายต้องมีข้อมูลเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาผู้มีอำนาจสั่งการ ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง และไม่กระจายงานให้ส่วนอื่นร่วมทำ จึงกลายเป็นจุดบอดในการแก้ปัญหาแรงงาน” แหล่งข่าวในกระทรวงแรงงานกล่าวระบุ

ส่วนประเด็นที่ พล.อ.ศิริชัย ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่น่ามาจากประเด็นเด้งอธิบดี
วรานนท์ โดยไม่ส่งสัญญาณหรือปรึกษาเป็นการล่วงหน้าเพียงอย่างเดียว เพราะช่วงที่มีการโยกย้ายในกระทรวงแรงงาน พล.อ. ศิริชัย เคยเสนอนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ตำแหน่งในขณะนั้น) ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเป็นลูกหม้อกระทรวงแรงงาน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือก นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ข้ามห้วยจากกระทรวงมหาดไทย มาเป็นปลัดกระทรวงแรงงานแทน

“คนที่จะมาคุมกระทรวงแรงงาน ควรมีบุคลิกที่เข้ากับคนได้ทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน แต่ที่ผ่านมากว่า 2 ปี เจ้ากระทรวงแรงงาน ไม่เปิดโอกาสให้ใครได้เข้าพบหรือที่พบก็น้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีคนก่อน จนถูกมองว่าที่ทำงานรัฐมนตรี บนชั้น 6 ของกระทรวงแรงงานเป็นพื้นที่สีแดงห้ามเข้า” แหล่งข่าวกล่าว

บาร์ไลน์ฐาน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมากล่าวถึงกรณี พล.อ. ศิริชัย ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งว่า “สื่อไม่ต้องถามอีก เรื่องกระทรวงแรงงานไม่ต้องห่วง ท่านออกไปประกอบธุรกิจทุกคนก็ออกตาม แต่มีคนทำงานและรับผิดชอบอยู่แล้ว ตามกฎหมาย ไม่ต้องกังวล”

ผลสืบเนื่องจากการลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดังกล่าว ต้องนำไปสู่ปรับ ครม. ซึ่งก่อนหน้าก็เคยมีกระแสข่าวมาแล้วว่าพล.อ.ประยุทธ์ เตรียมปรับครม.ล็อตใหญ่ เพื่อแก้ภาพลักษณ์ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะราคาพืชผลเกษตรอย่างราคายางพารา และข้าวเปลือกที่ตกตํ่า

สอดคล้องกับท่าทีนักการเมือง ที่ออกมาสนับสนุนรัฐบาลให้ปรับ ครม. โดย นายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปรับครม.ครั้งใหญ่ หาคนมืออาชีพมาทำหน้าที่แทน โดย เฉพาะในกระทรวงที่ต้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตกรคือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลังจากนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ใครจะอยู่ใครจะไป เพราะท้ายที่สุดการตัดสินใจอยู่ที่ “นายกฯบิ๊กตู่” คนเดียวเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว