เวิลด์แบงก์ชมไทยปฏิรูปรุดหน้า สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจยืนแถวหน้าอาเซียน

05 พ.ย. 2560 | 10:44 น.
รายงาน Doing Business เล่มล่า สุดของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งจัดลำดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจของ 190 ประเทศทั่วโลก โดยมี 11 ตัวชี้วัด พบว่าปีนี้อันดับของประเทศไทยขยับสูงขึ้นมาก โดยพุ่งขึ้นมากถึง 20 ลำดับ ขึ้นมาติดทำเนียบ 1 ใน 10 ประเทศที่มีการปฏิรูปมากที่สุดในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจ ซึ่งหมายถึงมีการแก้ไขปรับปรุงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างโดดเด่น

ทั้งนี้ ไทยขยับขึ้นจากลำดับที่ 46 ในการสำรวจครั้งที่แล้ว มาอยู่ในลำดับที่ 26 ของปีนี้ (2560) เมื่อดูรายละเอียดของการปฏิรูปที่ไทยได้ลำดับคะแนนที่ดีนั้น พบว่าตัวชี้วัดที่ 9 หรือ การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา (Enforcing Contracts) ซึ่งรับผิดชอบร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม ไทยทำได้ดี คือมีลำดับเพิ่มขึ้นถึง 17 ลำดับจากเดิมที่เคยอยู่ในลำดับที่ 51 ก็พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ลำดับ 34 หรือเป็นที่ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ นับเป็นสถิติที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งไทยอยู่
ในลำดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย นอกจากนี้ ในภาพรวมของการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจมากที่สุด ไทยยังขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 2 รองจากบรูไนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด

เมื่อลงลึกดูว่าเพราะอะไรลำดับในเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาของไทยจึงปรับปรุงดีขึ้นมาก ก็พบว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจาก 1) ระยะเวลาการบังคับคดีลดลง 20 วัน คือเดิมปีที่แล้วต้องใช้เวลาถึง 120 วัน ก็ลดลงเหลือเพียง 100 วัน และ 2) ค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

TP10-3311-A นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ธนาคารโลกยอมรับว่าระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีลดลง โดยในส่วนของระยะเวลาการบังคับคดีที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากไทยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ อีกทั้งกระบวนการบังคับคดีก็มีประสิทธิ ภาพที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันดัชนีวัดคุณภาพกระบวนการยุติธรรมของไทยก็ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 คะแนนเป็น 8.5% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ได้ 7.5% เป็นผลจากการที่ศาลนำระบบการจ่ายค่าธรรมเนียมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้
ในรายงานที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Doing Business 2018 : Reforming to Create Jobs (การปฏิรูปเพื่อสร้างงาน) ที่เผยแพร่โดยธนาคารโลกเมื่อต้นสัปดาห์ ไทยมีความก้าวหน้าจากการปฏิรูป 8 ด้าน นับเป็นจำนวนที่น่าบันทึกไว้

สำหรับประเทศไทยที่สามารถทำได้ในเวลาเพียง 1 ปี มีการปรับปรุงที่สำคัญหลายด้านเพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจซึ่งปรากฏผลให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น การยกเลิกข้อบังคับที่ต้องมีตราประทับของบริษัท และยกเลิกขั้นตอนการขออนุมัติจากกรมแรงงานในการส่งกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจในไทยใช้เวลาเพียง 4.5 วัน ลดลงจาก 27.5 วันในปีที่ผ่านมา

บาร์ไลน์ฐาน นอกจากนี้ ยังมีการปฏิรูปอีกหลายเรื่อง เช่น การนำระบบตรวจสอบตามความเสี่ยงอัตโนมัติมาใช้เพื่อคัดเลือกบริษัทที่ควรจะได้รับการตรวจสอบภาษี การ
ลดอัตราค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สิน การบัญญัติกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อขยายขอบเขตของทรัพย์สินเพื่อใช้
เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ และปัจจุบันได้นำระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้สำหรับการขอใช้ไฟฟ้า

นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาค กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากจากการปฏิรูปการประกอบธุรกิจในปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ การขยับอันดับสูงขึ้นในปีนี้และติดกลุ่มประเทศที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้นในแถวหน้า สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายสำคัญ ที่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เข้มแข็งและสร้างงานที่ดีให้กับคนไทยทั่วทั้งประเทศ สอดคล้องกับทิศทางที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ระบุว่า นอกจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจผ่านทางกฎหมายพิเศษอย่าง “มาตรา 44” แล้ว ไทยกำลังดำเนินการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) ซึ่งได้รับการสนับสนุน จากรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ระบบดังกล่าวเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว