ปตท. พึ่ง! ‘สยามแก๊ส’ นำเข้า LPG ทดสอบระบบการค้าเสรี - ‘มิตซูบิชิ’ ขยับเจรจาลูกค้า

10 พ.ย. 2560 | 08:00 น.
1453

ปตท. เจรจาขอซื้อ “แอลพีจี” จากสยามแก๊ส เพื่อทดสอบระบบนำเข้าที่คลังเขาบ่อยา รองรับการเปิดเสรีแอลพีจี ส่งผลให้ “สยามแก๊ส” กลายเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีเพียงรายเดียว ขณะที่ “มิตซูบิชิ” เร่งเจรจาลูกค้า เตรียมส่งแผนนำเข้าปลายปีนี้

นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทมีแผนนำเข้าแก๊สปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เพื่อจำหน่ายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ต.ค. - ธ.ค. 2560) จำนวน 4.4 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ขอซื้อแอลพีจีจากบริษัท 2.2 หมื่นตัน เพื่อนำไปทดสอบระบบที่คลังแอลพีจีเขาบ่อยา จ.ชลบุรี ตามนโยบายเปิดเสรีแอลพีจี ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 ส่งผลให้เป็นบริษัทเดียวที่นำเข้าแอลพีจีเพื่อจำหน่ายในประเทศ

“ปตท. ซื้อ ‘แอลพีจี’ จากบริษัทเพื่อนำไปทดสอบระบบที่คลังเขาบ่อยา เพราะหากนำเข้ามา แอลพีจีก็จะล้นตลาด ดังนั้น จึงขอซื้อจากสยามแก๊สแทน ลักษณะคล้ายกับการสว็อปคาร์โก เพราะหากปริมาณแอลพีจีไม่เพียงพอ สยามแก๊สก็จะขอซื้อแอลพีจีจากทาง ปตท. กลับได้ นอกจากนี้ ในอนาคต ‘สยามแก๊ส’ มีโอกาสเข้าใช้คลังเขาบ่อยา แต่ตอนนี้ใช้เรือลอยลำ โดยกรมอนุญาต 3 ปี” นางจินตณา กล่าว


TP09-3311-1a

ส่วนการนำเข้า ‘แอลพีจี’ ในปี 2561 บริษัทคาดว่า จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีนี้ ในระดับเกือบ 1 แสนตัน โดยปัจจุบัน ยอดขายแอลพีจีของบริษัทอยู่ที่กว่า 8 หมื่นตันต่อเดือน แบ่งเป็น ยอดขายในภาคอุตสาหกรรม 15%, ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน 60% และแอลพีจีภาคขนส่ง 25%

สำหรับการรักษาฐานลูกค้า ‘แอลพีจี’ หลังจากมีผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 รายใหม่ พยายามเจรจาดึงลูกค้าไปนั้น เชื่อมั่นว่า ลูกค้าที่ซื้อแอลพีจีจากสยามแก๊สมั่นใจในการบริหารจัดการแอลพีจีที่เพียงพอ รวมถึงมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งด้านการจัดหาโลจิสติกส์ และไม่เอาเปรียบลูกค้า ปัจจุบัน สยามแก๊สมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ 25% นอกจากนี้ สยามแก๊สยังมีโรงบรรจุก๊าซกว่า 160 แห่ง แบ่งเป็นโรงบรรจุก๊าซของสยามแก๊ส 35 แห่ง และของลูกค้าอีก 130 แห่ง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ขอซื้อแอลพีจีจากสยามแก๊ส 2.2 หมื่นตัน เพื่อขายให้กับลูกค้าบางส่วน และบางส่วนก็นำมาทดสอบระบบคลังเขาบ่อยา หลังจากเตรียมให้เอกชนรายอื่นสามารถเข้ามาใช้คลังดังกล่าวได้ ตามนโยบายเปิดเสรีแอลพีจี


appDSCF9127-696x385

“การซื้อแอลพีจีจากสยามแก๊สคงไม่จำเป็นต้องซื้อทุกเดือน เนื่องจากการจัดหาในประเทศมาจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่น บางเดือนขาด ก็สามารถซื้อจากผู้นำเข้ารายอื่นได้ แต่หากขาดมาก ทาง ปตท. ก็จะนำเข้าเอง” นายอรรถพล กล่าว


บาร์ไลน์ฐาน

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า การนำเข้าแอลพีจี ปัจจุบัน มีสยามแก๊สเพียงรายเดียวที่ยื่นแผนนำเข้าแอลพีจีเพื่อจำหน่ายในประเทศ ไปจนถึงสิ้นปีนี้ (ต.ค. - ธ.ค. 2560) จำนวน 4.4 หมื่นตันต่อเดือน ส่วนทาง ปตท. ยังไม่มีแผนนำเข้าไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากปริมาณการผลิตแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพียงพอ และยังมีบางส่วนเหลือส่งออก ซึ่งในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กำลังการผลิตแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 3.4 แสนตัน มีปริมาณส่งออก 2 หมื่นตัน

ขณะนี้ บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ยังไม่ได้ยื่นแผนนำเข้าก๊าซแอลพีจี และไม่น่าจะถอดใจ แม้ว่าการเจรจากับลูกค้าจะยากขึ้น เพราะมีผู้ค้าแอลพีจีรายใหญ่ อาทิ บริษัท ปตท.ฯ และบริษัท สยามแก๊สฯ ที่ครองตลาดแอลพีจีอยู่แล้ว เบื้องต้น ทางมิตซูบิชิแจ้งว่า อยู่ระหว่างการเจรจาลูกค้ามาตรา 7 ที่จะรับซื้อแอลพีจีจากทางมิตซูบิชิ รวมทั้งอยู่ระหว่างเจรจากับทาง ปตท. เพื่อใช้คลังแอลพีจีที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี

โดยกรมคาดว่า ทางมิตซูบิชิจะยื่นแผนนำเข้าแอลพีจีได้ภายในช่วงเดือน พ.ย. นี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนจากทางลูกค้าก่อน ยอมรับว่า ตลาดแอลพีจีมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นหลังเปิดเสรี แต่ก็เป็นผลดีต่อภาคประชาชนที่ราคาจะสะท้อนต้นทุนมากขึ้น


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5-8 พ.ย. 2560 หน้า 09


| ข่าวที่เกี่ยวข้อง |
1- ปตท. เจรจาหาแหล่งซัพพลาย ‘แอลเอ็นจี’ เพิ่ม


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว