SCBส่งซิกสินเชื่อฟื้น-หนี้เน่านิ่ง

04 พ.ย. 2560 | 09:14 น.
ไทยพาณิชย์ ฟันธงภาคธนาคารปี 2561 ส่งสัญญาณฟื้น ทั้งสินเชื่อเริ่มกระเตื้องหนี้เสียลดลงตามภาวะเศรษฐกิจปรับดีขึ้น เผยเร่งตั้งสำรองตามเกณฑ์บัญชีใหม่ คาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 138% ระบุปีหน้าการลงทุน-ส่งออกหนุนสินเชื่อเอสเอ็มอี-เทรดไฟแนนซ์โต

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer (CFO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มความเสี่ยงภาคสถาบันการเงินในช่วงที่เหลือและทิศทางปี 2561 มองว่าสัญญาณความเสี่ยงลดลง สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่เริ่มเป็นบวกมากยิ่งขึ้นตามตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ ภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ส่งผลให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับอานิสงส์ในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการค้าขายระหว่างประเทศ (Trade Finance)

[caption id="attachment_226345" align="aligncenter" width="335"] กิตติยา โตธนะเกษม กิตติยา โตธนะเกษม[/caption]

นอกจากนี้ยังสะท้อนผ่านจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จากเดิมตัวเลขกราฟเอ็นพีแอลจะมีทิศทางชันขึ้น แต่ปัจจุบันตัวเลขเริ่มลดระดับลง แม้ว่ากราฟจะยังไม่นิ่ง แต่ไม่เห็นตัวเลขพุ่งขึ้นในลักษณะชันขึ้นเหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นธนาคารมองว่าความเสี่ยงในระยะต่อจากนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงยังเป็นความเสี่ยงตามปกติที่ภาคสถาบันการเงินต้องดูแล เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) หรือการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเคร่งครัด เป็นต้น

ธนาคารไทยพาณิชย์มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการตั้งสำรองพึงกันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์บัญชีใหม่ IFRS 9 ภายในปี 2562 จะต้องดำรงสัดส่วนสำรองพึงกัน Coverage ratio อยู่ที่ 130% แต่เพื่อเตรียมการปัจจุบันธนาคารได้สำรองไว้เผื่อโดยไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 136.4% คาดว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 138%

เอ็นพีแอลของธนาคารไทยพาณิชย์ จะเห็นว่าอัตราการเกิดหนี้เสียใหม่ในปีแรก หรือ First Years Default ลดลงอยู่ในระดับตํ่ามาก ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา โดยหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ค้างสะสมมาตั้งแต่ในช่วงปี 2555-2556ที่ผ่านมาซึ่งเป็นในช่วงที่ระบบปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ หรือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีรายได้ไม่ประจำ แต่มีรายได้จากการค้าขาย ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การผ่อนชำระหนี้เกิดสะดุด

บาร์ไลน์ฐาน ดังนั้นตัวเลขเอ็นพีแอลที่เห็นว่าอยู่ในระดับสูงนั้น มาจากหนี้ค้างเก่าในช่วงปี 2555-2556 เนื่องจากธนาคารไม่ได้ตัดขายหนี้ หรือจำหน่ายเป็นหนี้สูญ แต่จะใช้วิธีการบริหารจัดการหนี้ และให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขหนี้ไหลกลับ (Re-Entry) อยู่ในระดับที่ดีขึ้น อัตราการกลับมาเป็นหนี้ภายหลังจากเข้าโปรแกรมช่วยเหลือ หรือปรับโครงสร้างแล้วมีประมาณ 30% ซึ่งธนาคารจะนับลูกค้าที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 2-3 ครั้ง และไม่สามารถกลับมาเป็นลูกค้าปกติได้ จะถูกจัดชั้นเป็นหนี้ Re-Entry ส่วนกรณีที่ช่วยไม่ได้หรือเป็นเคสซีเรียสมากจะมีการดำเนินขั้นตอนตามกระบวนการกฎหมายปกติ

สำหรับภาพรวมธุรกิจขนาดใหญ่พอร์ตยังคงเป็นปกติ ธนาคารยังไม่เห็นอาการผิดปกติหรือความเสี่ยงตรงไหนเพิ่มเป็นพิเศษ เนื่องจากตอนปล่อยสินเชื่อธนาคารระมัดระวังและรัดกุม โดยพิจารณาอย่างละเอียดถึงความสามารถในการทำธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้

“ธนาคารมองภาพเศรษฐกิจปีหน้า เป็นภาพบวก ตัวเลขหนี้ต่างๆ น่าจะดีขึ้น โดยสินเชื่อรายใหญ่น่าจะขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะเรื่องการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์และเทรดไฟแนนซ์ จะเติบโตตามการส่งออกและลงทุน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว