ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์คือต้นแบบ นักการเงิน-นักเศรษฐศาสตร์

04 พ.ย. 2560 | 02:55 น.
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่ทุกคนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยนำมาทำความเข้าใจและปรับใช้ในเรื่องต่างๆ

สำหรับตัวเองมองแนวคิดใน 3 หลักการคือ 1. ความพอประมาณ ถ้าพูดถึงการดำรงชีวิตจะระมัดระวังและพิจารณาการมีเงินทองหรือการมีบ้านพักอาศัยหรือทำอะไรที่ไม่เกินตัว 2.ความมีเหตุผลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินใจเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในการดำเนินชีวิตแม้กระทั่งนักธุรกิจก็ต้องนำปัจจัยนี้มาพิจารณาอย่างรอบคอบและ 3.การมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพราะการดำเนินงานต่างๆอาจไม่จบลงในสิ้นวัน แต่อาจต้องเผชิญเหตุการณ์ต่างๆหรือกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง ดังนั้นทั้ง 3 หลักการจะต้องนำมาใช้บนความรู้และคุณธรรมเพื่อตัวเอง ครอบครัวและสังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืน

หากมองในภาพของธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นระบบการเงินที่หล่อเลี้ยงสังคม ซึ่งอยู่กับการบริหารความเสี่ยง แม้บางจังหวะบางช่วงจะเห็นโอกาสของความเจริญเติบโต แต่หากทำโดยไม่นำหลักวิชาการที่เป็นพื้นฐานของความรู้มาตัดสินใจมองผลกำไรระยะสั้น โดยไม่มองถึงผลที่จะเกิดตามมา อาจทำให้ผลของการตัดสินใจไม่รอบคอบ อาจจะดีในระยะสั้นแต่ในแง่ภูมิคุ้มกันจะไม่เกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่งที่ต้องเผชิญปัญหาที่ไม่ได้คาดการณ์อาจทำให้ผลกำไรที่ได้ไม่ยั่งยืน

[caption id="attachment_226320" align="aligncenter" width="401"] ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

นอกจากนี้ส่วนที่เรียนรู้เพิ่มในการแก้ไขปัญหา โดยปัญหาเล็กๆอาจจะได้รับการแก้ไขง่าย แต่ปัญหาใหญ่อาจต้องใช้เวลา ซึ่งในประเด็นนี้พระองค์ทรงได้ให้แนวทางเรื่อง “ความเพียร” สำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างไม่ย่อท้อ แม้จะไม่สำเร็จในวันเดียว แต่วันหนึ่งปัญหาจะถูกคลี่คลายด้วยการใช้หลักปรัชญาดังกล่าวมาเป็นข้อคิดและนำไปปฏิบัติ ซึ่งเชื่อว่าชาวไทยทุกคนได้ยินได้ฟังและนำไปปรับใช้ในวิธีที่แตกต่างกัน

กรณีหนี้ครัวเรือนหรือปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีความขัดแย้งกับหลักการมีภูมิคุ้มกันหรือไม่อย่างไรนั้น ปรีดี กล่าวว่ามองสถานการณ์หนี้ครัวเรือน เนื่องจากบางครอบครัวอาจมีรายได้แตกต่างหรือมีความจำเป็นเรื่องก่อหนี้ หากพยายามสร้างรายได้ก็เป็นเรื่องปกติไม่เสียหาย ซึ่งพระราชดำรัสพระองค์ท่านได้ชี้ถึงการ“กู้เงิน” หากเป็นการกู้ยืมเพื่อสร้างรายได้ที่ต้องระมัดระวัง แต่หากไม่สามารถชำระหนี้ช่วงหนึ่งช่วงใดแต่ความเป็นหนี้ก็ต้องคืน ขณะบางคนที่อยู่บนความประมาท แต่หากได้เจอปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็จะเป็นช่วงเวลาให้ได้คิดหนักหรือฉุกคิดจะเป็นบทเรียนหรือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในใจและจะไม่ทำซํ้าในครั้งต่อไป

“ปรีดี” กล่าวถึงความเป็นนักการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ของพระองค์ ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในแง่ของการบริหารจัดการ ซึ่งประชาชนสามารถใช้เป็นต้นแบบในทุกแนวคิด ทุกผลจากการทรงงานโครงการต่างๆ ไม่ว่าเครื่องใช้หรือแหล่งนํ้าทุกพระราชกรณียกิจ หรือการใช้งบประมาณล้วนโยงถึงเรื่องหลักเศรษฐศาสตร์และการเงินที่ทรงแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม แม้กระทั่งสถานที่ทรงงาน ในโครงการชั่งหัวมัน ทุกคนได้เห็นบ้านที่ปรับปรุงใช้ในการทรงงาน ดังนั้นทุกเรื่องจึงเป็นตัวอย่างให้สามารถนำมาปรับใช้

บาร์ไลน์ฐาน นอกจากนี้ในประเด็น 2 เงื่อนไขคือ ความรู้และคุณธรรมนั้น ทุกวันนี้ “คุณธรรม” ถูกนำมาพูดถึงกันมากขึ้นแต่อาจจะมีวิธีใช้แตกต่างกัน เพราะการจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นจะขาดคุณธรรมไม่ได้ ซึ่งยังมีองค์ประกอบของความยั่งยืนที่ต้องมีอย่างน้อย 17 ข้อ ซึ่งต้องทำให้ครบ หากองค์กรใดบริหารหรือทำการค้าโดยไร้คุณธรรม ไม่ว่าต่อพนักงานหรือลูกค้าก็ไม่สามารถหาความยั่งยืนเพราะต่อไปคู่ค้าจะไม่ทำการค้าขายด้วย

ขณะเดียวกันบางองค์กรมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในซีเอสอาร์ด้านต่างๆ สะท้อนถึงผู้มีกำลังพยายามจะเข้าไปช่วยผู้อ่อนแอกว่า พระราชดำรัสและแนวคิดต่างๆให้แง่คิดและสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกคน หรือในแง่ของธนาคารถือเป็นค่านิยมที่จะแฝงอยู่ แม้ธนาคารต้องสร้างรายได้ แต่ในแง่ของการบริหารพอร์ตหรือการลงทุนต้องมีลักษณะสมเหตุสมผล อย่านำเงินไปลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนสูงเยอะๆ ซึ่งทุกคนไม่รู้ตัวว่าได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว