จับตารื้อใหญ่ภาษี หั่นสิทธิลดหย่อน-ปัดฝุ่นCapitalGain

04 พ.ย. 2560 | 04:18 น.
รายได้จากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเป็นรายได้หลักของประเทศที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ในการจัดทำงบประมาณแต่ละปี จะมีสัดส่วนรายได้จากกรมสรรพากรมากกว่า 80% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด เพื่อนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายให้กับส่วนราชการต่างๆ

แต่นับจากปี 2555 สัดส่วนรายได้จากกรมสรรพากรลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยสูงถึง 84.5% ลดลงเหลือเพียง 78.7% ในการจัดทำงบประมาณปี 2561 สาเหตุสำคัญก็เพราะรายได้จากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรตํ่ากว่าประมาณการต่อเนื่อง 5 ปี นับจากปีงบประมาณ 2556 จากผลกระทบจากนํ้าท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ส่งผลต่อภาคธุรกิจ และทำให้การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลไม่ได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของไทย ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกพลาดเป้าไปด้วย และในบางช่วงจังหวะยังผสมโรงกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศที่ชะลอตามไปด้วยซึ่งหากรวมในช่วง 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรพลาดเป้าหมายไปถึง 617,274 ล้านบาทเลยทีเดียว

MP23-3310-A จึงเป็นที่มาว่าทำไม นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง จึงออกมาบอกว่า ปีนี้จะเน้นที่กรมสรรพากรหนักๆ เพราะแม้ว่ากรมสรรพากรเองจะพยายามเพิ่มรายได้ด้วยการขยายฐานภาษีให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการบัญชีเดียว สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่จะมีผลในปี 2562 มาตรการจูงใจให้บุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล การดึงร้านทอง ร้านค้าย่อย 250,000 ร้าน เข้าระบบมากขึ้น แต่ในปีงบประมาณ 2560 รายได้กรมสรรพากรก็ยังพลาดเป้ากว่า 74,104 ล้านบาท

แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ภายใต้แนวโน้มว่าไม่เพิ่มภาษี และเป็นปีแรกที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่มีผลบังคับใช้ เป้าหมายรายได้ในปีงบประมาณ 2561 ที่ตั้งไว้ 1,928,000 ล้านบาท จะไปถึงได้อย่างไร

เพราะอย่างที่รู้กันว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ควรมีผู้เสียภาษี 20-30 ล้านคน แต่กลับมีผู้ที่เสียภาษีจริงๆแค่ 6-7 ล้านคนเท่านั้น เพราะผู้มีรายได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนสารพัด ทั้งดอกเบี้ยบ้าน เบี้ยประกันชีวิต เงินลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม และเอื้อคนรวย

เช่นเดียวกับภาษีนิติบุคคล ที่จำนวนบริษัทที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีควรจะมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่พบว่ารายที่ยื่นภาษียังมีน้อย เพราะช่องโหว่ทางกฎหมายยังมีอีกมากไม่ครอบคลุมกับการซื้อขายใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างการค้าขายออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งธุรกรรมที่เกิดขึ้นมูลค่ามิใช่น้อย

บาร์ไลน์ฐาน การปฏิรูปโครงสร้างภาษีจึงเป็นมาตรการเร่งด่วน เพื่อตอบโจทย์ 3 ด้าน คือความมั่นคงด้านรายได้ การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ และสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมลํ้าในสังคม รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

ในการประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปภาษีสรรพากร ทั้งการเร่งรัดกระบวนการออกกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวบรวมข้อมูลจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามช่องทางต่างๆ

จากนี้ไปจะเริ่มเห็นการออกมาพูดถึงว่า การปฏิรูปภาษีสรรพากรจากนี้ไปจะออกมาในทิศทางไหนเพื่อตอบโจทย์ 3 ด้านดังกล่าว

ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ สิทธิลดหย่อนต่างๆโดยเฉพาะสิทธิหักลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมตลาดทุนทั้งกองทุน LTF-RMF ตลอดจนการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นก็อยู่ในแผนที่คณะกรรมการจะหยิบขึ้นศึกษาและทบทวนในเที่ยวนี้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว