ผันน้ำกัมพูชาไม่ล้ม! กรศ. ขอแก้ไข MOU ต้องส่งให้ทั้งปี ราคาต่ำกว่า 10 บาท

02 พ.ย. 2560 | 14:36 น.
2203

กรศ. ยันเดินหน้า “เขื่อนสตึงมนัม” รองรับการใช้น้ำในอีอีซี 10 ปีข้างหน้า ล่าสุด กรมชลประทานอยู่ระหว่างการยกร่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ พร้อมมอบหมายให้ สนพ. ไปเจรจาลดค่าน้ำกับรัฐบาลกัมพูชาลง ให้ต่ำกว่า 10 บาทต่อหน่วย

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุม กรศ. มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการผันน้ำจาก ‘เขื่อนสตึงมนัม’ ซึ่งอยู่ชายแดนกัมพูชา ผลิตไฟฟ้าขนาด 24 เมกะวัตต์ และส่งน้ำให้กับไทยปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.ตราด และพื้นที่อื่น ๆ เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม ชุมชนเมือง เป็นต้น โดยจะผันน้ำมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่เป็นศูนย์กลางในการผันน้ำต่อไปยังพื้นที่อื่นของภาคตะวันออกนั้น


TP11-3310-A

โดยขณะนี้ ทางกรมทรัพยากรน้ำกำลังพิจารณาการจัดสรรน้ำและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างจัดเตรียมบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท Steung Meteuk Hydropower ผู้พัฒนาโครงการ โดย กรศ. จะขอให้มีการแก้ไขร่างเอ็มโอยูใหม่ จากที่ได้ตกลงว่า จะจัดซื้อน้ำในราคาเบื้องต้นประมาณ 10.75 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และจะรับซื้อเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ช่วงเดือน ธ.ค. - พ.ค. ของทุกปีเท่านั้น แต่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและพื้นที่เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งเป็นแห่งท่องเที่ยวสำคัญ มีความต้องการปริมาณน้ำทั้งปี และการออกแบบท่อส่งน้ำมีขนาดใหญ่ ทำให้มีน้ำเหลือประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจเกิดการเน่าเสียของน้ำค้างท่อ และมีโอกาสที่จะกัดกร่อนอุปกรณ์ทั้งระบบให้เกิดความเสียหายได้

นอกจากนี้ หากมีน้ำตลอดปี จะช่วยให้พัฒนาภาคการเกษตรได้ตลอดปี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น และพื้นที่รอบอ่างน้ำขนาดใหญ่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น และสามารถพัฒนาโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ลอยน้ำ ในอ่างเก็บน้ำได้ด้วย จึงเสนอให้มีการขอปรับเอ็มโอยูใหม่ กำหนดให้มีการซื้อ-ขายน้ำได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งขอให้ สนพ. พยายามไปเจรจาขอลดราคาการจัดซื้อน้ำจากโครงการเขื่อนสตึงมนัมลงอีกด้วย


บาร์ไลน์ฐาน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างการศึกษาความเหมาะสมของ ‘โครงการผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัม’ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แผนการบริหารจัดการน้ำและออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยคาดว่า การศึกษาจะใช้ระยะเวลาศึกษา 20 เดือน หรือ ประมาณ 600 วัน ให้แล้วเสร็จในปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัมได้ในปี 2566 อีกทั้งในอนาคต กรมชลประทานจะมีโครงการผันน้ำมาจากจันทบุรีมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และเมื่อดำเนินการร่วมกับโครงการอื่น ๆ ของกรมชลประทาน ที่มีแผนการดำเนินการอยู่แล้ว 16 โครงการ คาดว่า จะมีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ไปอีก 10 ปี หรือเพียงพอไปถึงปี 2570

สำหรับแนวทางการผันน้ำจาก ‘โครงการสตึงมนัม’ ถือเป็นแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติม เพื่อเป็นหลักประกันว่า ปริมาณน้ำในพื้นที่อีอีซีจะเพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากได้ประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อีอีซี หากการพัฒนาสามารถดำเนินงานอย่างเต็มที่ตามที่วางแผนไว้ จะทำให้มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะเกิดวิกฤติการขาดแคลนน้ำตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป หากไม่มีการผันน้ำจากแหล่งอื่น ๆ มาเสริม

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2-4 พ.ย. 2560 หน้า 11

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว