กกท. รับโต้โผ! ทาบกลุ่มทุนถ่ายบอลโลก

02 พ.ย. 2560 | 04:59 น.
1309

กสท. มั่นใจ! “เวิลด์คัพ 2018” จอไม่ดำ คอบอลไทยได้ลุ้นเชียร์ทุกแมตช์ หลัง “ฟีฟ่า” ผ่อนปรนเปิดทางผู้เสนอราคารายล่าสุด ด้าน กกท. ออกตัวแรงรับเป็นโต้โผเรียกทีวีดิจิตอลร่วมหารือ

พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 หรือ เวิลด์ คัพ 2018 (World Cup 2018) ที่ประเทศรัสเซียนั้น มองว่า เป็นเรื่องการเรียกค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ที่สูงเกินจริง ซึ่งขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่กฎหมายหรือข้อบังคับในประเทศสำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเสนอค่าลิขสิทธิ์ แต่ติดอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ ฟีฟ่าต้องการค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่สูงเกินจริง จากเดิมที่อยู่เพียง 300-400 ล้านบาท พุ่งสูงมาเกือบ 2,000 ล้านบาท ในปีนี้

 

[caption id="attachment_54739" align="aligncenter" width="503"] IMG_5315 พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์[/caption]

ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ คือ เรื่องของราคาที่ไม่ได้ตามที่ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการ เนื่องจากมีมูลค่าสูงเกินไป มองว่า ราคา 1,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว เพราะมีราคาเฉลี่ย 25 ล้านบาทต่อแมทช์ (จากการแข่งขันทั้งหมด 64 แมทช์) และการยื่นเสนอค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันในครั้งนี้ ส่วนสำคัญ คือ การสร้างแบรนด์ในช่วงที่มีการถ่ายทอดสด ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับสิทธิย่อมรู้ดีว่า แม้จะยื่นเสนอราคาได้ แต่โอกาสในการขาดทุน 400-500 ล้านบาทนั้น มีอยู่แล้ว แต่ทุกคนก็พร้อมจ่าย หากราคาไม่สูงเกินจริง

“มั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ได้อย่างแน่นอน เพราะ ‘เวิลด์ คัพ’ ถือเป็นกีฬามหาชนที่ให้คนทั่วโลกสามารถรับชมได้ และมีส่วนร่วม ซึ่งปัญหาการตัดสิทธิประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากในบางประเทศ แม้ไม่ได้ถ่ายทอดสดก็ยังมีการถ่ายทอด 22 นัดสำคัญ เพื่อให้ได้ชมกัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น มีผู้ประกอบการมีการยื่นเสนอราคาไปแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นที่พอใจของเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น”

สำหรับในกรณีดังกล่าว หากตกลงเรื่องเสนอราคาลิขสิทธิ์ไม่ลงตัวตามเวลาที่ระบุไว้ ขั้นตอนต่อไป เจ้าของสิทธิ (ฟีฟ่า) จะต้องติดต่อกลับมายังผู้ยื่นขอสิทธิในปีนี้ คือ ช่อง 3 ที่ให้ราคาสูงสุดราว 800-900 ล้านบาท นั่นแปลว่า โอกาสที่ช่อง 3 จะได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด เวิลด์ คัพ 2018 นั้น มีค่อนข้างสูง จึงไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกว่า จะไม่ได้รับชมการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เกิดขึ้นที่ไทยเป็นครั้งแรก หากแต่เคยเกิดขึ้นกับประเทศเวียดนาม เมื่อครั้งยื่นเสนอค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโรครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งสามารถปิดดีลได้ในระยะเวลา 3-7 วัน ก่อนที่จะมีการถ่ายทอดสดและข้อตกลงก็เป็นไปตามที่ทางฝั่งเวียดนามต้องการ


บาร์ไลน์ฐาน

ส่วนกฏ Must Have (หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ ฟรีทีวี) ที่มีออกมาบังคับใช้ในการถ่ายทอดนั้น มองว่า เป็นกฎที่ออกมาเพื่อจำกัดผู้เล่นในตลาด หรือลดการแข่งขันด้านลิขสิทธิ์ลง เพื่อป้องกันไม่ให้การแข่งขันสูงจนเกินไป ซึ่งถือว่า เป็นผลดีกับผู้ชม แม้ว่าบางอย่างจะไม่เป็นไปตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการก็ตามที จึงจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไป

ด้าน แหล่งข่าวระดับสูงจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า ในวันที่ 2 พ.ย. นี้ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ทั้ง กสทช., ทีวีพูล, แกรมมี่, อาร์เอส, ทศภาค ฯลฯ โดยจะเปิดให้แต่ละหน่วยงานเสนอแนวทางเข้ามา รวมถึงดูว่า ใครสนใจบ้าง หรือ ถ้าเอกชนรายใดสนใจ กกท. ก็จะเปิดทางให้

“ต้องยอมรับว่า วงเงินที่ใช้สูงมาก เกินพันล้านบาท ทั้งค่าลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด ออนกราวด์ และอื่น ๆ จึงต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประเมินท่าทีหาทางออกร่วมกัน” แหล่งข่าว กล่าว


1311

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อว่า รัฐบาลสนใจ แต่ต้องคำนวณถึงความคุ้มค่าก่อน และจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์มา และสิ่งสำคัญที่สุด รัฐบาลต้องนำเงินไปช่วยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมก่อน

ขณะที่ จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ทั้งกลุ่มแกรมมี่ อาร์เอส และช่อง 3 พบว่า ยังไม่มีรายใดได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วมหารือในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2-4 พ.ย. 2560 หน้า 2

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว