รื้อใหญ่แผนพลังงาน! พลังงานทดแทนพุ่งเท่าตัว - กฟผ. รับส้ม! ลดลงทุน 6 แสนล้าน

02 พ.ย. 2560 | 09:57 น.
1657

รื้อ! แผนแม่บทพลังงานใหม่ ให้ทันสมัยสอดรับสถานการณ์ ... “อนันตพร” สั่งปรับแผนพีดีพี มุ่งพลังงานทดแทนมากขึ้น จาก 20 เป็น 40% เพิ่มการจัดการแอลเอ็นจี ... กฟผ. ได้อานิสงส์ลดลงทุนสร้างสายส่ง 6 แสนล้าน ดัน! ไมโครกริดเสียบ

ภายหลังจากที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพาเจอโรคเลื่อน ภาครัฐต้องหันมาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวใหม่ เน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้การจ่ายไฟมีความเสถียรมากขึ้น ทั้งการพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ท กริด) และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (เอ็นเนอร์ยี สตอเรจ)

รมต.

ล่าสุด พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ไปปรับแผนแม่บทพลังงาน 5 ด้าน (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี), แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี), แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี), แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง) ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของแผนแม่บทที่จะต้องมีการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการปรับแผนอนุรักษ์พลังงานให้เข้มข้น

 

[caption id="attachment_169968" align="aligncenter" width="503"] ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร[/caption]

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดึงทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เข้ามาช่วยประเมินศักยภาพของระบบไฟฟ้าของไทย ว่า จะสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ในระดับใด เพื่อวางแผนกระจายเชื้อเพลิงในแต่ละภูมิภาคให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังผลิต รวมถึงกำหนดรูปแบบเชื้อเพลิงให้เหมาะสม คาดว่าการจัดทำแผนพีดีพีเสร็จในช่วงต้นปี 2561 จากนั้นจะนำไปสู่การปรับแผนพลังงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนพีดีพี

สำหรับการจัดทำแผนพีดีพีดังกล่าว พบว่า ตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะยังเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นอัตราที่ชะลอลง เห็นได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศ ปี 2560 อยู่ที่ 3 หมื่นเมกะวัตต์ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะสูงสุดที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ โดยมองว่า แผนพีดีพีใหม่ เมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 น่าจะกำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าแผนเดิมที่วางไว้ 7 หมื่นเมกะวัตต์ เนื่องจากจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองเข้ามาทดแทน อีกทั้ง การเร่งรัดมาตรการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับแผนเดิมที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายมากนัก

P1-3310-a

| ใช้พีดีพีใหม่ ต้น 61 |
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากกระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพีดีพีฉบับใหม่ ก็จะนำมาปรับแก้ ซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในต้นปีหน้า จากนั้นจะต้องนำมาปรับแผนแม่บทพลังงานให้สอดรับกัน ทั้งแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (ก๊าซแพลน) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (ออยล์แพลน) ต่อไป

การจัดทำแผนพลังงานทางเลือกนั้น คาดว่าจะมีการปรับตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เป็น 30-40% ของปริมาณความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศ เมื่อเทียบกับแผนเดิมอยู่ที่ 20% ของปริมาณความต้องการไฟฟ้ารวมของประเทศในปี 2579 ที่กำหนดไว้ราว 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นเมกะวัตต์

 

[caption id="attachment_179524" align="aligncenter" width="503"] วิฑูรย์ ธพ. วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน[/caption]

ส่วนแผนอนุรักษ์พลังงานนั้น คงต้องมีมาตรการที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงานให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น จากที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จากเดิมตั้งเป้าจะลดการใช้ไฟฟ้ารวม 8.9 หมื่นล้านหน่วย ภายในปี 2579

ขณะที่ แผนก๊าซธรรมชาติจะต้องปรับตัวเลขการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น หลังจากได้ทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซจะอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผนพีดีพี 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.3 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น คาดว่า ในปี 2565 ความต้องการการนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 17.4 ล้านตันต่อปี และในช่วงปลายแผน ในปี 2579 จะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 40 ล้านตันต่อปี จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปี

ด้าน แผนน้ำมัน นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า จะต้องรื้อใหม่ทั้งชุด โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน ทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล ต้องปรับลดลง ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ต้องปรับใหม่ เพราะราคาน้ำมันถูกลง ซึ่งตามแผนอนุรักษ์พลังงานได้มีการประเมินความต้องการใช้เอทานอล ในปี 2579 อยู่ที่ 11.3 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล อยู่ที่ 14 ล้านลิตรต่อวัน และต้องยกเลิกผลิตภัณฑ์น้ำมัน อย่าง แก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อลดต้นทุนค่าบริหารจัดการของผู้ค้าน้ำมัน ที่ส่งผ่านไปยังผู้ใช้น้ำมัน

บาร์ไลน์ฐาน

 

| กฟผ. ลดลงทุนสายส่ง |
นายกรดิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. จำเป็นต้องมีแผนรองรับพลังงานทดแทนที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบไฟฟ้า อาทิ โรงไฟฟ้าเก่าอาจเดินเครื่องน้อยลง และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำเป็นต้องมีแบ็กอัพในช่วงกลางคืน

“กฟผ. จะต้องปรับลดการลงทุนสายส่งไฟฟ้าลง จากเดิมตามแผน 10 ปี จะใช้เงินลงทุน 6 แสนล้านบาท ในการขยายสายส่ง แต่เมื่อพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (ระบบไมโครกริด) ระบบสมาร์ทกริดมากขึ้น เพื่อเข้ามารองรับพลังงานทดแทนในพื้นที่ต่าง ๆ จากที่แผนเดิมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มากนัก”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2-4 พ.ย. 2560 หน้า 1-2

| ข่าวที่เกี่ยวข้อง |
1- ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ : รื้อใหญ่! แผนพลังงานประเทศ - เอกชนตีปีก! รับส้มหล่น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว