จริยธรรมเทียบเท่า รัฐธรรมนูญขององค์กร

04 พ.ย. 2560 | 01:46 น.
MP26-3310-1A “จริยธรรม” คำไทยสั้นๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง จริยธรรม หมายถึง หลักธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติในหมู่คณะ ซึ่งลอรีอัล ให้ความสำคัญมาก เทียบได้กับเป็นรัฐธรรมนูญขององค์กร ที่มีกฎหมาย...ข้อบังคับต่างๆ ตามมา

“เอ็มมานูเอล ลูแลง” รองประธานอาวุโสและผู้บริหารสูงสุดฝ่ายจรรยาบรรณระดับโลกของลอรีอัลกรุ๊ป อธิบายว่า การปฏิบัติขององค์กรอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินการตามหลักจรรยาบรรณ 4 ประการ ได้แก่ ความเคารพนับถือ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ และความโปร่งใส โดยเร็วๆ นี้ ลอรีอัลจะแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้การกำกับดูแลของรองประธานอาวุโสและผู้บริหารสูงสุดฝ่ายจรรยาบรรณ

[caption id="attachment_225988" align="aligncenter" width="407"] เอ็มมานูเอล ลูแลง เอ็มมานูเอล ลูแลง[/caption]

จรรยาบรรณ หรือระเบียบปฏิบัติด้านจริยธรรมของลอรีอัล ประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2543 และมีฉบับปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในปี 2557 ลอรีอัลได้ปรับปรุงจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Ethics) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดพิมพ์เป็น 45 ภาษา รวมทั้งอักษรเบรลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 22 ภาษา

ลอรีอัล กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีความหลากหลายและแตกต่างทางวัฒนธรรม จรรยาบรรณจึงมีการปรับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรลอรีอัลในประเทศนั้นๆ เช่น การไม่กีดกันเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา อายุ และเพศ และยังนำสิ่งเหล่านั้น มาสร้างเป็นโปรแกรมในการสร้างจิตวิญญาณให้กับคนลอรีอัล รวมทั้งการสื่อสาร ที่นำเสนอรูปแบบความงามที่หลากหลายของคนเอเชียตะวันตก แอฟริกา เพื่อให้เห็นว่า ทุกเชื้อชาติมีความงามที่แตกต่างกัน

นโยบายที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2014 หรือที่เราเรียกว่า โปรแกรมการให้โอกาสชุมชนเล็กๆ โปรแกรมนี้ทำให้ลอรีอัลเข้าถึงหน่วยงาน องค์กร หรือซัพพลายเออร์รายเล็กๆ ทำให้ลอรีอัลรู้จักซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้นอีก 1,400 ราย ถือเป็นการตอบโจทย์ซีอีโอ “ฌอง พอล แอง” ที่ประกาศพันธะสัญญาเรื่อง Sharing Beauty With All เอาไว้ และทำให้ลอรีอัลสามารถช่วยผู้ด้อยโอกาสให้สามารถมีงานทำ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองอีก 1 แสนคน ภายในปี 2020

ลอรีอัลได้สร้างวัฒนธรรม “กล้าพูด” ซึ่งเป็นที่มาของวันจรรยาบรรณประจำปี (Ethics Day) ที่จัดขึ้นประมาณกลางเดือนตุลาคมของทุกปี ในวันนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานลอรีอัลทุกคนได้สนทนาสดกับซีอีโอผ่านเว็บแชต พนักงานกว่า 77,000 คนทั่วโลก สามารถถามสดกับซีอีโอได้โดยตรง เป็นการฝึกความกล้าหาญ และสร้างวัฒนธรรมความเชื่อใจซึ่งกันและกัน และยังมีการแชตถามสดกับผู้จัดการประจำประเทศต่างๆ กว่า 65 ประเทศ โดยจะแสดงชื่อจริงหรือไม่ก็ได้

“เอ็มมานูเอล” บอกว่า วัฒนธรรมแห่งจรรยาบรรณจะสำเร็จหรือไม่ ตรงที่องค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานกล้าพูด กล้าถาม หรือเปล่า และผู้บริหารระดับสูงต้องรับฟัง นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของลอรีอัล สอดคล้องกับกฎบัตรโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) หลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) อนุสัญญามาตรฐานแรงงานหลักแห่งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (Fundamental Conventions of the International Labor Organization) และแน่นอนที่สุด หลักจริยธรรมทั้ง 4 ประการขององค์กร - ความซื่อตรง (Integrity) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Respect) ความกล้าหาญ (Courage) และความโปร่งใส (Transparency) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของหลักจรรยาบรรณของลอรีอัล

จรรยาบรรณของลอรีอัล กรุ๊ป ในปี 2020 “เอ็มมานูเอล” ยํ้าว่า วัฒนธรรมองค์กรในเรื่องของจรรยาบรรณ จะต้องแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันวิธีการทำงาน จะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลของการทำงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว