สานพันธกิจบริการทางการแพทย์ที่ดีเลิศ คืนประโยชน์สู่ “ศิริราชและสังคม”

07 พ.ย. 2560 | 13:26 น.
2013

จากผู้ถวายงานเข็นพระเก้าอี้เลื่อน ... สู่ผู้ประคองพระบรมโกศพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คนแรก ‘ศ.น.พ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน’ ถือเป็นหนึ่งในผู้ถวายงานใกล้ชิด ในฐานะแพทย์ประจำพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

 

[caption id="attachment_225960" align="aligncenter" width="335"] ศ.น.พ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ศ.น.พ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน[/caption]

‘อาจารย์ประดิษฐ์’ ได้แรงบันดาลใจให้ศึกษาวิชาการแพทย์ เพราะเห็นคุณพ่อไม่สบายด้วยโรคทางปอด แม้จะเป็นเด็กเกมาบ้าง แต่ด้วยความมุมานะ ก็ทำให้สามารถสอบติดแพทย์มหิดล จบแล้วก็ไปใช้ทุนที่ขอนแก่น 1 ปี หลังจากนั้น ได้เข้าฝึกอบรมในระดับแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จนสำเร็จการฝึกอบรมในปี 2534 จึงได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดสาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากนั้นได้ไปฝึกอบรมเพิ่มเติมในสาขาเฉพาะทางการทำหัตถการปฏิบัติสายสวนโรคหัวใจและหลอดเลือด ณ Green Lane Hospital ประเทศนิวซีแลนด์

“ผมชอบเป็นครู ถึงเลือกเป็นครูแพทย์ ผมอยากจะสอน แต่ไม่อยากสอนวิชาแพทย์ อยากจะสอนเรื่องชีวิต ผมไม่ใช่นักบริหาร และไม่มีภาวะผู้นำ เราเลยต้องอ่านหนังสือ คนที่ประสบความสำเร็จ ต้องทำในสิ่งที่รัก แต่ผมทำสิ่งที่รักไม่ได้เสมอไป”

… สาเหตุที่ ‘อาจารย์ประดิษฐ์’ บอกเช่นนั้น เพราะท่านถูกมอบหมายให้เข้ามารับผิดชอบหน้าที่ผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์


วิทยุพลังงาน

แม้ไม่รัก แต่ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การรู้จักให้ คุณหมอจึงมีวิธีทำให้ตัวเองเกิดความรักในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ด้วยการอ่านหนังสือเยอะ ๆ ศึกษาเพิ่มเติมผ่านการอ่าน

คอนเซ็ปต์ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คือ การเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ คือ ให้ทุนเพื่อช่วยเหลือศิริราช เพราะศิริราชไม่สามารถทำกำไรได้ แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน แต่จะค่อย ๆ ลดการสนับสนุนลง เพราะฉะนั้น โครงการโรงพยาบาลแห่งนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อให้คนที่พอมีกำลังมาช่วยเหลือ


MP25-3310-1A

พันธกิจของ ‘อาจารย์ประดิษฐ์’ คือ การผลักดันให้โรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลที่ต่อยอดจากโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลที่สามารถรักษาตติยภูมิ หรือ โรคที่มีความสลับซับซ้อน แพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นแพทย์ผู้มีประสบการณ์ เป้าหมาย คือ การก้าวไปสู่โรงพยาบาลมาตรฐานสากล และเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรก ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ JCI (Joint Commission International) เป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานการบริหาร บรรยากาศแบบโรงพยาบาลเอกชน หรือ ประมาณ 80% ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ

“เราต้องให้บริการทางการแพทย์ที่ดีเป็นเลิศ เพื่อนำประโยชน์กลับคืนสู่ศิริราชและสังคม เราต้องเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีคนศรัทธามากที่สุดในประเทศไทย เชื่อถือ เชื่อใจ เราอยากให้เขานึกถึงศิริราชอย่างไร ก็นึกถึงเราอย่างนั้น”

ล่าสุด ‘อาจารย์ประดิษฐ์’ ยังได้ทำโครงการดี ๆ ท่าน คือ หนึ่งในผู้ผลักดันและทำให้โครงการ ‘กระปุกออมสิน #ออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ’ เกิด และประสบความสำเร็จ ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ คือ การกระตุ้นให้คนไทยรู้จักและรักการออม รู้จักการออม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและสังคม การออมไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประเทศชาติด้วย


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

“เราไม่ได้คำนึงถึงเงินบริจาค เราคำนึงถึงการที่ให้คนไทยระลึกถึงพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่าน เท่าไรก็เท่านั้น เป็นการทำให้เห็นว่า วิธีปฏิบัติที่ดีมันเป็นอย่างไร”

คุณหมอยกตัวอย่างสิ่งที่ได้เห็นในช่วงที่ทรงรักษาพระวรกาย พระองค์มีพระราชจริยวัตรเหมือนเดิม อยู่อย่างพอเพียง อาหาร ห้องบรรทม ห้องอาบน้ำ พระองค์ท่านจะใช้เหมือนเดิม ซึ่งยากสำหรับคนไม่สบาย ที่จะทำทุกอย่างเหมือนเดิมได้ แต่พระองค์ท่านเป็นแบบนั้นหมด


2019

ด้าน แนวคิดการทำงาน ‘อาจารย์ประดิษฐ์’ มองว่า การมอบสิ่งดี ๆ ให้กับคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี ... ยิ่งให้มันก็ยิ่งได้ ท่านไม่ค่อยเชื่อเรื่องบาปบุญ แต่การให้การทำความดี เป็นสิ่งที่สามารถเห็นผลได้เลย โดยไม่ต้องรอ ความสุขมันได้ตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำ เริ่มคิดก็มีความสุข ทำไปก็มีความสุข

และนี่คือ บุคคลหนึ่งที่ปฏิบัติและแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การลงมือปฏิบัติและทำดีตามรอยพ่อนั้น เป็นอย่างไร


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2-4 พ.ย. 2560 หน้า 25


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว