10 เป้าหมายปฏิรูปการเมือง พลิกโฉมประเทศ

04 พ.ย. 2560 | 10:53 น.
ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” 11 คณะ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 กำหนดให้กรรมการปฏิรูปแต่ละคณะต้องจัดทำแผนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยแผนงานแต่ละด้านต้องแล้วเสร็จภายในเมษายน 2561 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน

สำหรับความคืบหน้าของการจัดทำแผนปฏิรูปด้านการเมือง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังกำหนดเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง 10 ด้านแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนปฏิรูป ซึ่งจะเสร็จกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

++10 เป้าหมายปฏิรูปการเมือง
นายเอนก กล่าวถึงหลักการและเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองว่า มี 10 ข้อ โดยสรุปคือ ประการแรก ให้ประเทศชาติมีสันติสุข มีความสงบเรียบร้อย มีความสมัครสมานสามัคคีปรองดอง แม้จะมีความแตกต่างกัน มีการประชันขันแข่งกันทางความคิดและแนวทาง ก็สามารถมีการปรองดองกัน มีการพัฒนาทั้งในระบบตลาดปกติ จะต้องเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงต้องให้มีความสมดุลระหว่างการ พัฒนาด้านวัตถุและด้านจิตใจ

ข้อ 2 เป็นเรื่องทำให้สังคมมีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม มีโอกาสแทบทุกทางที่คนเราจะทัดเทียมกันได้มากขึ้น จะปฏิรูปความเหลื่อมลํ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลดความเหลื่อม ลํ้าแตกต่างระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองเล็ก ถ้าทำได้ จะลดความแตกต่างเหลื่อมลํ้า ซึ่งเป็นฐานของการเมืองที่เต็มไปด้วยความสับสนปั่นป่วน รบกวนประเทศ ไทยมาถึง 10 ปี

ข้อ 3 ให้ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ทุกชนชั้นล้วนมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่มุ่งเน้นหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากขึ้น ต้องมุ่งเน้นต่อประโยชน์สุขของส่วนรวมมากขึ้น เป็นประชาธิปไตย และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการพัฒนาประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

[caption id="attachment_225869" align="aligncenter" width="396"] เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง[/caption]

++ดันร่วมสร้างบ้านแปงเมือง
นายเอนก กล่าวว่า หลักการใน 3 ข้อเบื้องต้น เป็นหลักการใหญ่และหลักการทั่วไป ส่วนหลักการตั้งแต่ข้อ 1 ถึงหลักการที่ 10 เป็นหลักการที่เจาะจง โดยเฉพาะข้อ 4 ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เป็นพลเมืองที่แข็งขัน ร่วมสร้างบ้านแปงเมือง ประเทศจะพัฒนาไม่ใช่ว่าอยู่ที่รัฐบาลเท่านั้น ประชาชนต้องมาเป็นส่วนร่วมในการคิด การทำ การตรวจสอบด้วย ยอมรับในหลักการทางการเมืองที่สุจริตแต่แตกต่างกัน และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำ ไม่ว่าจะในทางใด

ข้อ 5 ให้การดำเนินกิจ- กรรมของพรรคการเมือง เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้มากที่สุด ให้พรรคพัฒนาเป็นสถาบันการเมือง ของประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน แทนที่จะเป็นพรรคของนายทุน ให้ประชาชนมีกระบวนการที่จะไปเป็นสมาชิกพรรคและมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะในการคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ ความสุจริต มีคุณธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยชัดเจน

ข้อ 6 มีกลไกกำหนด ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการเสนอหรือประกาศโฆษณา หรือแถลงนโยบายที่กระทบความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน มุ่งที่จะขจัดนโยบายที่จะทำให้เกิดความเสียหายของประเทศ ที่จำเป็นต้องกำหนดว่าต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบ มีการบอกด้วยว่าจะเอางบประมาณอะไรมาใช้ ต้องกู้ยืมเงินเท่าไหร่ และจะคุ้มค่าแค่ไหน ถ้าระยะสั้นไม่ได้ ให้บอกความคุ้มค่าระยะยาวอย่างไร และจะมีความเสี่ยงอะไร ที่เราคิดไม่ถึงหรือเปล่า ก็แปลว่าการเสนอนโยบายอะไรต้องรับผิดชอบ

ข้อ 7 ต้องมีกระบวนการยกระดับจิตสำนึกธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นธรรมาธิปไตยแนวพุทธ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้นที่ควรจะปฏิบัติ หมายถึงปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองหรือคนที่เป็นผู้นำต้องมีธรรมะ รู้ว่าอะไรดี อะไรควร อะไรถูก ไม่ใช่มีแต่ความนิยมอย่างเดียว และมีกลไกกำหนดให้ผู้ที่อยู่ในกลไกการเมืองทุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบต่อสังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติ พูดง่ายๆ คือใช้ธรรมาธิปไตยช่วยให้คนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตระหนักว่าเรามีการเมืองแบบนี้มีไม่ใช่เพราะการมาแย่งชิงทรัพยากรกัน แต่เพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง

++ชู‘สถาบันคลังปัญญากลาง’
ข้อ 8 ให้มีกลไก กระบวนการ ทรัพยากรที่พอเพียง ในการสนับสนุนส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นที่ต่างๆ เช่น จังหวัด อำเภอ ตำบล ตลอดจนอาสาสมัคร พลเมือง ชุมชน ประชาชน ประชาสังคมทั้งหลาย ให้มีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมือง ให้เป็นไปตามวัฒนธรรม ประเพณีเฉพาะถิ่นเฉพาะที่ก็ได้ และให้เป็นประโยชน์ต่อชาติและส่วนรวมด้วย

ข้อ 9 ให้มีองค์กรหรือสถาบันคลังปัญญากลาง หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Think Tank” มาศึกษาวิจัยและสร้างสรรค์สติปัญญา ให้ข้อเสนอในการปฏิรูป พัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่อง ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการวางแผนปฏิรูปการเมืองต่อไปทุก 5 ปี ในครั้งแรกเราจะใช้เพียงสติปัญญา และสมอง ของ 10 คนที่เป็นกรรมการ แต่ใน 5 ปีต่อๆไป ถ้าไม่มีใครที่จะมาคิด มาวางแผน มาวิจัยให้อย่างลึกซึ้ง ก็จะไม่มีอะไรที่ดีที่ใหม่กว่าของเดิม จึงจำเป็นต้องมี “Think Tank” มาช่วย

ข้อ 10 ให้มีกลไก กระบวน การ และทรัพยากรในการแก้ไข และป้องกันความขัดแย้งที่รุนแรงแตกหักด้วยสันติวิธีและสติปัญญา โดยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“เราตระหนักและเข้าใจดีว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว การเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้ง รุนแรงแตกหัก นองเลือด บ้านเมือง เต็มไปด้วยความปั่นป่วน รัฐเกือบจะล้มเหลว ต้องหากลไกกระบวน การอะไรที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีกให้มันแก้ไขกันได้ในระบอบประชาธิปไตย”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ++สรุปปฏิรูปการเมืองกลางพ.ย.
สำหรับกรอบในการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปเป็นไปตามกฎหมายกำหนดคือต้องเสร็จในขั้นที่ 1 คือผ่านเรื่องไปที่กรรมการยุทธศาสตร์ภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะพิจารณาและส่งเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้าครม.เห็นชอบก็จะส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับทราบ กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องเสร็จสิ้นภายในดือนเมษายน 2561 เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะสำเร็จเป็นแผนได้และมีผลบังคับใช้ประมาณเมษายนปีหน้า จากนั้นก็จะทำหน้าที่ต่อไปอีกกว่า 4 ปี เพื่อกำกับติดตามตรวจสอบดูว่าแผนที่เราเขียนได้รับความเห็นชอบจากครม.จากกรรมการยุทธศาสตร์ในทางปฏิบัตินำไปทำหรือไม่ หน่วยงานไหนไม่ทำ หน่วยงานไหนทำดี หรือทำช้า ทำยืดยาด ทำสับสน เราสามารถแจ้งให้เขาทราบหรือบอกผู้บังคับบัญชาให้ช่วยกวดขันดูแล ตักเตือน ถ้าเขาไม่ทำเลยก็จะนำเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ได้

ส่วนการทำงานจะมีอนุกรรมการได้ชุดเดียวคือกรรมการติดตามความคิดเห็นประชาชน แล้วเอาแผนของกรรมการปฏิรูปการเมืองไปทำความเข้าใจกับประชาชน นอกจากนั้นได้ร่างแผนเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา เราได้คุยกันมาเกิน 10 ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องเป้าหมาย หลักการ มีการพูดคุยกันในหลายประเด็น หลายวาระที่สำคัญ เพื่อนำมาป็นเนื้อหาในการเขียนแผน และตั้งกรรมการขึ้นมารับผิดชอบในการเขียนแผน โดยนายธีรภัทร์ เสรี-รังสรรค์ เริ่มเขียนแผนกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ใช้เวลาเขียนประมาณ 1 เดือน เสร็จประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะมาพิจารณาต่ออีก 1 เดือน ประมาณวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ก็จะเสร็จในชั้นของกรรมการปฏิรูปการเมือง จากนั้นก็ส่งไปที่กรรม การยุทธศาสตร์ชาติ

ส่วนความคาดหวังในการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ นายเอนก กล่าวว่า ครั้งนี้กรรมการปฏิรูปการเมืองไม่ได้นับหนึ่งใหม่ มีคนได้คิดให้เราไว้เยอะ เราก็ไปเก็บสิ่งที่เขาได้ทำมาใช้ อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ก็จะรับไว้มาก เพื่อจะได้ไม่ต้องมาทำเรื่องเก่าอีก หรือต้องมาคิดเรื่องใหม่ แต่ที่จริงก็คิดมาแล้ว เราก็จะต่อยอด ก็ไม่ได้หนักใจอะไรกับการทำงานครั้งนี้ เพราะเราเริ่มคิดทำเรื่องปฏิรูปมา 3 ปีแล้ว ทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), คณะรักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) ได้คิดและรวบรวมความเห็นว่าควรจะปฏิรูปอะไรจากประชาชนทั่วประเทศ จากหลายกลุ่ม และพรรคการเมือง รวมทั้งสภาขับเคลื่อนการ ปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็คิดและเขียนแผนอะไรมาเยอะแยะ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าน่าจะไม่ยากนัก

“ผมคิดว่า อันนี้ถ้าประคับประคองทำไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วยก็จะพลิกโฉมประเทศไทย ในตอนแรกๆ อาจจะไม่ค่อยเห็นผล แต่ถ้าทำต่อเนื่องกันไปทุก 5 ปี ก็จะทำให้ประเทศไทยมีทิศทาง แทนที่จะขับไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะขับไปไหน แต่ครั้งนี้จะเป็นการบังคับให้ทำตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูป ซึ่งแผนที่ดีการปฏิรูปที่ดีต้องปรับแก้ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เอาสิ่งที่เป็นโบราณล้าหลังมาเป็นเข็มทิศในการพัฒนาประเทศ” นายเอนก ระบุ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
e-book