ลุย15แผนดันจีดีพี-ทำต่อแก้น้ำท่วม-แล้ง ‘เลิศวิโรจน์’ปลัดเกษตรใหม่

04 พ.ย. 2560 | 07:36 น.
เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนล่าสุด ถือเป็นลูกหม้อของกระทรวง เริ่มต้นการทำงานที่กรมชลประทานในปี 2534 ตำแหน่งวิศวกร 6 ต่อมาปี 2553 ขึ้นเป็นเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปี 2555 เป็นอธิบดีกรมชลประทาน ปี 2558 เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ และวันที่ 8 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงการขับเคลื่อน Smart Agricultural Curve ในปี 2561 และการขับเคลื่อนตามแผนบริหารจัดการนํ้าของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

++นํ้าเท่าปี54 แต่ป้องกันดี
“เลิศวิโรจน์” กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณนํ้าของประเทศไทยมีมาก ดูจากปริมาณฝนค่าเฉลี่ย 30 ปี ภาพรวมทั้งประเทศเกินกว่า 20% มองว่าไม่ใช่ปีปกติ โดยให้สังเกตปีใดที่มีการระบายนํ้าท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ถือว่าเป็นปีที่นํ้าเยอะเทียบเท่าปี 2554 แต่พื้นที่เกษตรเสียหายไม่มากนัก เพราะทางกระทรวง โดยนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯได้ปรับปรุงปฏิทินการปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวข้าวให้เร็วขึ้น เฉพาะพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่รับนํ้าปัจจุบันเก็บเกี่ยวหมดแล้ว

[caption id="attachment_225823" align="aligncenter" width="503"] เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[/caption]

“รัฐบาลเตรียมการรับมือเต็มที่มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีทั้งการขุดแก้มลิง แล้วยังใช้แก้มลิงธรรมชาติเป็นพื้นที่รับนํ้าช่วยได้มาก ในอนาคตหากรัฐบาลมีโครงการตัดนํ้าเหนือฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกใน โครงการขยายแม่นํ้าชัยนาท -ป่าสัก เพื่อการรับนํ้าจาก 700 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มเป็น 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเป็นแนวคลองที่สามารถลงไปอ่าวไทยได้เลย อีกโครงการหนึ่งที่ได้ศึกษาร่วมกับกระทรวงคมนาคมคือโครงการสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 พร้อมคลองผันนํ้า เป็นโครงการเร่งระบายนํ้าหลากบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงสู่อ่าวไทย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาโดยให้กรมชลประทาน เร่งสรุปผลดี ผลเสีย ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) กลางเดือนพฤศจิกายนนี้”

สำหรับแผนปรับปรุงขยายคลองชัยนาท- ป่าสัก วงเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท มีโครงการต่อเนื่องอยู่แล้วที่จะต้องขยายคลองให้มีศักยภาพผันนํ้าได้เต็มที่ คลองยาว 140 กม. ทำความจุเพิ่ม 990 ลบ.ม. วินาที ตัดยอดนํ้าก่อนเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ส่วนแนวคลองใหม่ ขุดออกอ่าวไทยโดยเร็ว พื้นที่ข้างล่างมี 2 แนวทาง จากป่าสัก-อ่าวไทย วงเงินกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท หรือปรับขยายคลองระพีพัฒน์ ซึ่งรอการศึกษาจากไจก้า ในโครงการขุดคลองคู่ขนานถนนวงแหวนรอบ 3 ยาว กว่า 100 กม. จะปรับนำมาเข้าแนวเดียวกัน เพื่อเกิดความคุ้มค่า และมีประสิทธิผลในการระบายนํ้า สำหรับโครงการผันนํ้าบางบาล-บางไทร วงเงิน 1.76 หมื่นล้านบาท จะช่วยแก้ปัญหาการไหลของนํ้าได้คล่องตัว ช่วยทำให้นํ้าตอนบนไหลลงสู่ อ.บางไทรได้เร็วขึ้น ตอบโจทย์โดยตรงในการแก้ปัญหานํ้าท่วมจ.พระนคร ศรีอยุธยา ไม่เช่นนั้นพื้นที่ประวัติศาสตร์จะมีความเสี่ยงนํ้าท่วมทุกปี

“ไม่รู้สึกหนักใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะเคยเจอมามากกว่านี้ เพียงแต่วันนี้เจอแล้วมีโอกาสได้ทำ ที่สำคัญรัฐมนตรีเกษตรฯมีความเอาใจใส่และมีศักยภาพสามารถรายงานเรื่องต่างๆ กับนายกรัฐมนตรีโดยตรงได้ นับเป็นเรื่องที่ดี”

++แผนนํ้าปลูกพืชฤดูแล้ง
สำหรับการวางแผนการปลูกพืชในฤดูแล้ง (พ.ย.60-เม.ย.61)หลังจากนี้ จะต้องแบ่งพื้นที่เป็น 2 อย่าง อย่างแรกคือการบริหารจัดการในลักษณะหลายอ่างเก็บนํ้า เช่น ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ลุ่มนํ้าแม่กลอง เนื่องจากเป็นระบบหลายอ่างและหลายพื้นที่ ทางคณะกรรมการจะมีการประชุมกันว่าจะต้องใช้นํ้าในฤดูแล้งกันเท่าไร ส่งเสริมการเพาะปลูกฤดูแล้งได้เท่าไร ส่วนในพื้นที่อ่างเก็บนํ้าแบบเดี่ยวๆ คณะกรรมการจะดูจากปริมาณนํ้าในอ่าง ซึ่งเมื่อสิ้นฤดูฝนจะมีแผนบริหารจัดการใช้นํ้าทั้งปีไม่ใช่ใช้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น

“ปริมาณฝนไม่มีความแน่นอนจะต้องเตรียมนํ้าไว้เผื่อฝนมาช้า หรือฝนตกน้อยก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นต้องคำนวณ 1. เพื่ออุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี 2. ต้องมีนํ้าอย่างมั่นคงในฤดูการเพาะปลูกคือต้องการให้ปลูกเดือนพฤษภาคมตามฤดูกาลปกติ รวมทั้งนํ้าที่จะต้องเตรียมใช้สำหรับฤดูนาปีด้วย ส่วนนํ้าเหลือเท่าไรถึงจะมาคำนวณเพื่อส่งเสริมปลูกพืชในฤดูแล้ง

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ++15 แผนดันจีดีพีเกษตร
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า เมื่อมารับตำแหน่งจะเร่งขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐมนตรีที่ได้วางไว้ วันนี้รัฐบาลมีงานนโยบายที่ต้องลงพื้นที่เยอะมาก จะต้องทำงานแบบบูรณาการ และต้องทำให้ได้ผลอย่างจริงจัง ถ้าเป็นไปตามนั้นผลสัมฤทธิ์ก็ออกมาในปี 2561 ซึ่งมี 15 แผนงาน ได้แก่ 1. การบริหารจัดการ นํ้า 2. เกษตรแปลงใหญ่ 3. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 4. การบริหารพื้นที่เกษตรโดย Agri-Map

5. การพัฒนาเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์เมอร์ 6. พัฒนาสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 7. ธนาคารสินค้าเกษตร 8. เกษตรอินทรีย์ 9. เกษตรทฤษฎีใหม่ 10. การแก้ปัญหาประมงไอยูยู 11. พัฒนาศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 12. การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน 13. ตลาดสินค้าเกษตร 14. การพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน 15. การจัดการหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ ภายใต้งบประมาณปี 2561 ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

“เป้าหมายปีงบประมาณ 2561 จะเป็นปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 โดยเน้น การพัฒนาบุคลากร ทั้งข้าราชการและเกษตรกร โดยข้าราชการต้องเป็นข้าราชการที่มีสมรรถนะสูง มีอุดมการณ์ รอบรู้ในงานของตน และเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไปแนะนำเกษตรกรได้ เร่งสร้างเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร จัดทำแผนธุรกิจ และเชื่อมโยงตลาดได้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรถึง 3.9 แสนบาท/คน/ปี เป็น Smart Farmer และ GDP ภาคเกษตรต้องเพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 3% ต่อปี ตามโรดแมปที่ได้กำหนดไว้”

++ยันรัฐบาลไม่ทิ้งเกษตรกร
รัฐบาลมีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เป็นปัญหากับราคาสินค้าหรือมีปัญหากับการทำเกษตรกรรมพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่จะทอดทิ้งใคร แต่ปัจจัยบางเรื่องมีความละเอียดอ่อน อย่างเรื่องของยางพารา วันนี้เราปลูกกันเยอะมาก พอความต้องการในตลาดน้อยลงจะต้องเจอปัญหาแบบนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกอย่างน้อยปีละ 4 แสนไร่ เป็นต้น ส่วนสถานการณ์นํ้าท่วมจะมีคำสั่งพิเศษในการช่วยเหลือให้มีความรวดเร็ว จะทำให้เจ้าหน้าที่และราชการจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ต้องปรับตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
e-book