‘เราจะต้องทำอะไร?’ เพื่อเป็นการระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

01 พ.ย. 2560 | 00:00 น.
นึกถึงพระองค์เมื่อใด ก็คิดว่า “เราจะต้องทำอะไร?” เป็นข้อความเตือนใจซึ่งเขียนโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ในหนังสือ “ธรรมของพระราชา” ที่แจกให้แก่ประชาชนที่เข้าวางดอกไม้จันทน์เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

TP07-3310-1a ในหนังสือท่านป.อ. ปยุตโต ได้ถือโอกาสแสดงธรรมและให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังโศกเศร้าว่าอย่าทำเพียงแค่ระลึกถึงพระองค์ท่านแล้วร้องไห้อาลัย แต่ควรแสดงความกตัญญูต่อพระองค์ท่านโดยลงมือทำการที่จะสนองพระราชประสงค์ผู้เขียนเห็นข้อความนี้แล้ว จึงกลับมานั่งนึกว่าในสาขาวิชาที่ตัวเองสนใจ ซึ่งก็คือ สาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาและเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมนั้น ตัวผู้เขียนเองในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งและในฐานะที่เป็นคนไทย เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างที่ตรงตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และยังเพิ่มโจทย์ให้ตัวเองอีกว่า สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ทันสมัยและมีความจำเป็นต่อสังคมในยุคปัจจุบัน

ก่อนที่จะได้คำตอบนั้น จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นคือสิ่งใด ซึ่งสิ่งนี้ท่าน ป.อ.
ปยุตโต ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือของท่านว่าคือการได้เห็นประชาชนของพระองค์ท่านกินดีอยู่ดี และได้เห็นประเทศไทยเจริญก้าวหน้าและมีความมั่นคง ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ภาพที่ชาวไทยทุกคนได้เห็นและรับรู้เสมอมาคือการที่พระองค์ท่านทรงงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทุกคน ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายพันโครงการ ที่ล้วนเป็นเรื่องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทั้งสิ้น

TP07-3310-2a เมื่อตีความพระราชประสงค์ ได้แล้ว ขั้นต่อไป คือ การหาสิ่งที่ทันสมัยและมีความจำเป็นต่อสังคมในยุคปัจจุบันในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่มีความสอดคล้องกับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยให้มีความกินดีอยู่ดี และทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าและมีความมั่นคง ซึ่งแนวทางการพัฒนาที่พระองค์ท่านยึดมั่นมาตลอดในรัชสมัยของพระองค์ท่านนั้น สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เริ่มใช้ เมื่อปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา1 เพื่อแก้ปัญหาด้านความยากจน ปก ป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่งคั่งให้แก่ทุกคน ความสอดคล้องกันนี้แสดงให้เห็นว่าแนวทางในการพัฒนาประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงใช้มาตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์นั้นมีความลํ้าสมัยเป็นอย่างยิ่ง และยังคงมีความทันสมัยและจำเป็นยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน

แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างในลักษณะที่สอดคล้องกับพระราชประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนขอเสนอเรื่องของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น 1 ใน 17 เป้าประสงค์ของ SDGs ที่มุ่งแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพฤติกรรมการผลิตและบริโภคที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ทั้งนี้เพราะการที่จะให้ประชาชนของประเทศกินดีอยู่ดีและมีการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมที่ดี

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ในฐานะผู้ใช้ทรัพยากรคนหนึ่ง เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดได้โดยใช้หลัก 3-R อันได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ซํ้า (Reuse) และการแปร รูปของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกบริโภคสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าใกล้เคียงกันได้ เช่น การเลือกบริโภคอาหารที่ปราศจากการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต การเลือกสินค้าที่มีฉลากเขียวหรือฉลากอื่นๆ ซึ่งแสดงว่าสินค้านั้นมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

TP07-3310-a เมื่อผู้บริโภคหันมานิยมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ผลิตหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้นั้น นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากยิ่งขึ้น แล้วยังมีส่วนช่วยเสริมให้ประเทศมีความมั่งคั่งและยั่งยืนอีกด้วยซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะทำตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่านโดยการ “ทำอะไร”

1แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาตินั้นมีที่มาจากการประชุม UN Conference on the Human Environment ในปี ค.ศ. 1972 แต่การตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมกับความเท่าเทียมกันในสังคมนั้นเริ่มจากการตีพิมพ์รายงานเรื่อง Our Common Future ของ the Brundtland Commission ของ World Commission on Environment and Development (WCED) ในปี ค.ศ. 1987

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว