กก.ทอท.รุกทำแผนเดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานก่อนชงครม.

30 ต.ค. 2560 | 10:00 น.
ผลประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 11/60 มติเดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานให้ ทอท.จัดทำแผนดำเนินงานและช่วงเวลา ที่จะเข้าบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมท่าอากาศยาน ก่อนชงเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอครม.เห็นชอบต่อไป

การประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ครั้งที่ 11 /2560 ในวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2560 ณ สำนักงานใหญ่ ทอท.ซึ่งมีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธาน ที่ประชุมโดยมีมติสรุปได้ดังนี้

aot1

1. เรื่อง งานซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 -2560) โดยวิธีพิเศษ ตามที่ ทอท.ได้ดำเนินการประมูลงานซื้อพร้อมติดตั้งงานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560) ได้ดำเนินการประมูลมาแล้ว 2 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 แต่ไม่สามารถจัดหาผู้ขายได้ นั้น ทอท. จึงได้เปลี่ยนวิธีจัดหาเป็นวิธีพิเศษ

โดยใช้เกณฑ์ราคาในการคัดเลือกผู้เสนอราคา ด้วยมุ่งหวังให้เกิดประสิทธิผลต่อการจัดหา และไม่ให้ส่งผลกระทบล่าช้าต่อกำหนดแล้วเสร็จของโครงการฯ ซึ่งในการเปลี่ยนวิธีการจัดหาจากวิธีประมูลเป็นวิธีพิเศษ นั้น ทอท. ได้ปรับข้อกำหนดและรายละเอียดในการจัดหา (TOR) เฉพาะส่วนของการยื่นเอกสารเสนอราคา ให้สอดคล้องกับวิธีพิเศษ และเกณฑ์ในการคัดเลือกเท่านั้น ไม่มีผลต่อรายการประกอบแบบ (Specification) แต่อย่างใด

โดย ทอท. ได้มีหนังสือเชิญผู้ผลิตทั้ง 4 ราย และผู้ที่เคยซื้อเอกสารประมูลทั้งหมด 9 ราย เข้าร่วมแข่งขันใน การยื่นข้อเสนอ มีกำหนดยื่นซองเสนอราคาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 มีผู้สนใจยื่นเสนอราคาจำนวน 2 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และนิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี (ประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยอิงเกอร์ เทคโนโลยี จำกัดบริษัท เรืองณรงค์ จำกัด บริษัท วิวเท็กซ์ จำกัด) และเมื่อเปิดซองเอกสารข้อเสนอด้านราคา ปรากฏว่า ผู้เสนอราคาทั้ง 2 ราย เสนอราคาที่สูงกว่าราคากลาง ซึ่งกำหนดไว้เป็นเงิน 2,894,959,247.20 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

ดังนั้น ทอท.จึงได้เจรจาต่อรองราคาของการจัดหาฯ กับผู้เสนอราคาทั้ง 2 ราย ปรากฏว่า นิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 2,999,900,000-บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่าราคากลาง คิดเป็นร้อยละ 3.62 อย่างไรก็ตาม ทอท.ได้พิจารณาความเสี่ยงหาก มีการจัดซื้อใหม่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการและจะส่งผลกระทบต่อความล่าช้าของโครงการฯ ในภาพรวม และมีผลต่อคุณภาพการให้บริการของ ทสภ. จึงเห็นว่า เป็นราคาที่เหมาะสม และได้เสนอคณะกรรมการ ทอท. อนุมัติการจัดซื้อพร้อมติดตั้งงานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) กับนิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี ในวงเงินดังกล่าว ทั้งนี้ จะมีระยะเวลาดำเนินงาน 870 วัน แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2563 และจะสามารถเปิดให้บริการผู้โดยสารได้สอดคล้องกับแผนการเปิดให้บริการที่ ทอท.ได้ตั้งเป้าหมายไว้

คณะกรรมการ ทอท.อนุมัติงานซื้อพร้อมติดตั้งงานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ APM)โดยวิธีพิเศษ จาก นิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี เป็นเงิน 2,803,644,859.81 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 196,255,140.19 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,999,900,000.-บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

prasong

2. เรื่อง การคัดเลือกผู้ประกอบกิจการสื่อโฆษณา ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต คณะกรรมการ ทอท.อนุมัติให้ บริษัท คิว แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการ สื่อโฆษณา ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต มีอายุสัญญา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ ทอท.กำหนดให้เริ่มประกอบกิจการ โดย ทอท.เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนในอัตราคงที่ปีแรกเดือนละ 6,000,000.- บาท ทั้งนี้ และ ทอท.จะปรับการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป ในอัตราร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 10/2560 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 คณะกรรมการ ทอท.มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการสื่อโฆษณาภายในอาคาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีอายุสัญญา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ ทอท.กำหนดให้เริ่มประกอบกิจการ ซึ่ง ทอท.เรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนปีแรกเดือนละ 8,000,000.- บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ ทอท.จะปรับการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป ในอัตราร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า

3. เรื่อง บทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทย
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ ทอท.พิจารณาดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยในส่วนท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารท่าอากาศยานและเพิ่มบทบาทการดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานให้บริการครบวงจร

รวมทั้งให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) พิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยาน และอาจมีแผนทางเลือกให้ ทอท.เข้ามาบริหารจัดการ หรือให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. เพื่อสร้างโครงข่ายระบบการขนส่งทางอากาศโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ

จากนโยบายดังกล่าว ทอท.ได้มีการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาพการบริหารของท่าอากาศยานพาณิชย์ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีจำนวน 39 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานภายในกรมท่าอากาศยาน ทอท. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และท่าอากาศยานอู่ตะเภา การคาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศในอีก 20 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทย ระบบความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมของประเทศ ความเหมาะสมในแต่ละช่วงของการลงทุน การกำหนดบทบาทท่าอากาศยานประเทศไทย และบทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในมิติเชิงรัฐและความมั่นคง

จากการศึกษา ทอท.ได้เล็งเห็นโอกาส และศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในภาพรวมภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน (Airport System) และการดำเนินธุรกิจใน รูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะเป็นเพิ่มศักยภาพภาคการขนส่งของประเทศในภาครวม ทั้งนี้ ทอท.มีแนวคิดว่า ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่บริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศควรจะเป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 29 แห่ง ด้วยเหตุผลดังนี้

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานโลก โดยต้องคำนึงถึงเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติควบคู่กันไป : อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานทางด้านความปลอดภัย (Safety) และด้านการรักษาความปลอดภัย (Security) สูง โดยมาตรฐานต่างๆ นั้นเป็นมาตรฐานสากลที่ปฏิบัติกันทั่วโลก ไม่สามารถประนีประนอมหรือผ่อนผันได้ ซึ่งกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับมาตรฐานฯ ดังกล่าวมีจำนวนมาก และจำเป็นดำเนินการผ่านหน่วยงานรัฐที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ

2. การระบุสถานะของแต่ละสนามบิน (Positioning) ที่ถูกต้องในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มของการลงทุนที่ถูกต้องในอนาคต : การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและในอีกทศวรรษข้างหน้าเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและมีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ จึงทำให้แผนแม่บทการพัฒนาสนามบินของชาติซึ่งจะต้องมี การลงทุนมหาศาลนั้น จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือระบุสถานะ (Positioning) ของแต่ละสนามบิน ให้สอดคล้องกับการเติบโตและความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาทิ การพัฒนาสนามบินเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ก็ต้องมีการออกแบบ รันเวย์ แท็กซี่เวย์ ตลอดจนถึงสะพานเทียบเครื่องบินที่รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้

ในขณะที่การพัฒนาสนามบินเพื่อเป็นประตูเมือง (Gateway) นั้น อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนใน สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมากนัก เพราะสนามบินขนาดเล็กนั้นไม่มีโอกาสได้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในระยะเวลาอันใกล้ เป็นต้น ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดจะทำให้มีการลงทุนจำนวนมหาศาลที่ผิดพลาดและจะนำมาซึ่งความเสียหายในเชิงการเงินและเชิงเศรษฐกิจของประเทศที่ตามมาในระยะยาวอีกจำนวนมหาศาล

suwan

3. การบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานต้องทำเป็นกลุ่ม (Cluster) : การบริหารจัดการและการทำการตลาดของสนามบินในลักษณะ Cluster นอกจากจะทำให้การบริหารจัดการน่านฟ้าของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ภาคพื้นแล้ว ยังทำให้การทำการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่ม Cluster เป็นไปในทิศทางเดียวกันและไม่เกิดการแข่งขันกันเอง อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยรวมอีกด้วย

4. การมีผู้บริหารเดียว (Single Operator) : เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านสังคมที่จะต้องมีการรักษามาตรฐาน และคงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติควบคู่กันไป และด้านเศรษฐกิจที่จะมีการลงทุนที่บูรณาการ เหมาะสมตามสถานะ (Position) ของแต่ละสนามบิน และมีการบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่ดี โดย ทอท. มีความพร้อมทั้งในด้านทุนและบุคลากรในการบริหารจัดการสนามบินของประเทศอย่างบูรณาการ อันจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคและของโลกต่อไปอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการ ทอท.มีมติเห็นชอบบทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน และให้ ทอท.จัดทำแผนดำเนินงานและช่วงเวลา ที่จะเข้าบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยานเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

e-book