“จีน” ยุคใหม่! ต่อยอดสู่มหาอำนาจ

01 พ.ย. 2560 | 13:19 น.
2043

“สี จิ้นผิง” ผู้นำจีน ประกาศต่อยอดความสำเร็จ 5 ปีที่ผ่านมา มุ่งพัฒนาเพื่อบรรลุการเป็น “สังคมพอกินพอใช้อย่างรอบด้าน” ภายในปี ค.ศ. 2020 และเป็นประเทศสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีนยุคใหม่


ในถ้อยแถลงที่มีต่อที่ประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 19 หรือ “สมัชชาฯ 19” ที่มีขึ้นในกรุงปักกิ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ (18-24 ต.ค.) ประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ประกาศชัดถึงยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน ที่แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ปี 2020-2035 ที่มุ่งพัฒนาจีนสู่การเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ทันสมัย และช่วง 15 ปีถัดไป (2035-2550) หรือ กลางทศวรรษที่ 21 ที่มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นมหาอำนาจในแบบของจีน นั่นคือ เป็นสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทันสมัย มั่งคั่ง และเจริญเติบโตอย่างสง่างามในทุก ๆ ด้าน


TP10-3309-B-n

จีนยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดย นายสี จิ้นผิง ได้นำเสนอยุทธศาสตร์สร้างสรรค์เขตชนบทให้เจริญรุ่งเรืองเป็นครั้งแรก ครอบคลุมการสร้างกลไกและนโยบายที่ผสมผสานการพัฒนาเมืองและชนบทให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น เร่งผลักดันความทันสมัยด้านการเกษตร ขยายเวลาการเช่าที่ดินนานต่ออีก 30 ปี เมื่อครบกำหนดเดิม ปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์รวมหมู่แบบลงลึก ส่งเสริมเกษตรกรหารายได้เสริม เป็นต้น ที่สำคัญ คือ จะเน้นขจัดอุปสรรคทางการตลาด และอำนวยให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค สนับสนุนวิสาหกิจเอกชนให้พัฒนาตนเอง กระตุ้นความคึกคักของตลาด แก้ไขการผูกขาด และผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเข้าตลาดของธุรกิจบริหาร ฯลฯ นอกจากนี้ จีนจะเดินหน้าผลักดันโครงการ The Belt and Road ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างขีดความสามารถทางนวัตกรรม สนับสนุนการเปิดสู่ภายนอก ที่เชื่อมต่อทั้งทางบกและทางทะเล อำนวยประโยชน์แบบทวิภาคี ส่งเสริมการค้าที่เข้มแข็งและการลงทุนแบบเสรี ใช้ระบบที่เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองจีน

ในการสรุปผลงานบริหารประเทศช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายสี จิ้นผิง ยกความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของจีนให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด หนึ่งในนั้น คือ การที่จีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านล้านหยวน นับเป็นฟันเฟืองเกื้อหนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตาม กว่า 30% นอกจากนี้ จีนยังพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างคึกคัก อาทิ เศรษฐกิจดิจิตอล เกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ฯลฯ นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ The Belt and Road ก็รุดหน้าอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ที่ขยายอิทธิพลทางการเงินไปทั่วภูมิภาค

แนวคิดการพัฒนาที่ยึดเอา ‘ทรัพยากรมนุษย์’ เป็นที่ตั้งตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนสามารถยกระดับรายได้ ทำให้ประชากรกว่า 60 ล้านคน พ้นขีดความยากจน อัตราความยากจนของจีนลดจาก 10.2% เป็นน้อยกว่า 4% ความเป็นอยู่และรายได้ที่ขยับสูงขึ้น จะทำให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น และพร้อมที่จะเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309 วันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 2560


| ข่าวที่เกี่ยวข้อง |
1- “สี จิ้นผิง” สานต่อความฝันจีนก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” ขึ้นแท่นผู้นำทรงอิทธิพลสูงสุด
2- ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ... สำคัญอย่างไร?



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว