ยึด! “น้ำตาลเถื่อน” ฟาดกำไร 6 บาท

01 พ.ย. 2560 | 10:14 น.
1834

“น้ำตาลเถื่อน” โผล่เกือบ 100 ตัน ที่จันทบุรี วงในชี้! ลักลอบนำเข้า “น้ำตาลโควตา ค.” ที่ส่งออกไปแล้ว นำกลับมาขายใหม่ หลังราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วง เวียนกินส่วนต่าง 5-6 บาทต่อกิโลกรัม จับตา! จุดผ่อนปรนตามแนวตะเข็บชายแดน

หลังราคาน้ำตาลโลกดิ่งลงเป็นเวลาต่อเนื่องหลายเดือน ล่าสุด ราคาน้ำตาลดิบลงมาอยู่ที่ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายขาวไต่ระดับอยู่ที่ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลดิบเมื่อปี 2559 อยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่น้ำตาลทรายขาวมีราคาสูงกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงกว่า ทั้งในรูปน้ำตาลดิบ น้ำตาลทราบขาวชนิดต่าง ๆ จนเป็นเหตุจูงใจ ทำให้พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนบางจุด เริ่มมีการลักลอบขนส่งน้ำตาลเข้ามาแบบผิดกฎหมายเกิดขึ้น ทั้งในรูปกองทัพมดและลักลอบเป็นล็อตใหญ่ โดยนำเข้า ‘น้ำตาลโควตา ค.’ (ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) ที่ประเทศไทยส่งออกไปเพื่อนบ้าน และมีการนำน้ำตาลดังกล่าวลักลอบกลับเข้ามาขายในไทย เพื่อกินส่วนต่างราคา ซึ่งถือว่า ‘ผิดกฎหมาย’ เนื่องจากน้ำตาลโควตา ค. เป็นน้ำตาลสำหรับส่งออกผ่านพิธีการทางศุลกากรไปแล้ว จึงไม่สามารถนำกลับมาขายในประเทศไทยได้อีก
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

| พบในพื้นที่จันทบุรี |
ล่าสุด แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมศุลกากรได้จับกุมพ่อค้าชายแดนที่นำเข้าน้ำตาลทรายขาวเถื่อนมาจากกัมพูชาได้ล็อตใหญ่ ขนาดเกือบ 100 ตัน โดยลักลอบนำเข้ามาจากกัมพูชา มาทางช่องทางพิเศษในเขตพื้นที่ จ.จันทบุรี โดยกรมศุลกากรร่วมกับด่านศุลกากรจันทบุรีจับกุมได้ จากการตรวจสอบพบว่า เป็นน้ำตาลที่ส่งออกโดยโควตา ค. จากประเทศไทยไปยังกัมพูชา แล้วมีการนำน้ำตาลดังกล่าวส่งกลับมาขายในไทยในช่องทางพิเศษ แบบลักลอบนำเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง


TP15-3309-2

“ล็อตนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่ ใส่รถบรรทุก 10 ล้อ เข้ามา โดยกรมศุลกากรติดตามได้ พบว่า เป็นน้ำตาลที่แปลงสัญชาติไปแล้ว มีการซื้อขายถูกต้องตามกฎหมายไปยังปลายทางที่กัมพูชา แล้วกลุ่มพ่อค้าชายแดนลักลอบนำกลับมาขายในไทย เพื่อกินส่วนต่าง เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศไทยในขณะนี้ หน้าโรงงานราคาอยู่ที่ 20-21 บาทต่อกิโลกรัม เปรียบเทียบกับราคาส่งออกอยู่ที่ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับกินส่วนต่าง 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายในประเทศไทยสูงกว่า ในขณะที่ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงลงต่อเนื่อง”


| ยึดของกลางทั้งหมด! |
ปัจจุบัน ด่านส่งออกน้ำตาลไปยังกัมพูชา มีทั้งหมด 3 จุด คือ 1.ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด 2.ด่านจันทบุรี 3.ด่านอรัญประเทศ แต่เวลาลักลอบนำเข้ามาจะมาตามจุดผ่อนปรน ซึ่งไม่ใช่จุดที่ได้รับอนุญาตส่งออก ซึ่งตามแนวชายแดนจะมีช่องผ่อนปรนเยอะมาก มีทั้งนาวิกโยธินดูแล ตำรวจชายแดน (ตชด.) ดูแล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศุลกากรจับได้และยึดของกลางดังกล่าวไว้แล้ว โดยให้ของกลางตกเป็นของแผ่นดิน โดยคนลักลอบนำเข้าล็อตนี้เป็นกลุ่มพ่อค้าชายแดน

ด่านที่มีการส่งออกน้ำตาลทรายเป็นจำนวนมาก เช่น ด่านเชียงแสน จ.เชียงราย, ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด และด่านคลองลึก จ.สระแก้ว จะมีการเฝ้าระวังและจับตาเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันถ้านำเข้าน้ำตาลในอาเซียนด้วยกัน จะเสียภาษีอากรขาเข้า 0% แต่ถ้านำเข้าระหว่างกันนอกอาเซียนจะเสียภาษีอากรขาเข้าในอัตรา 65%

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

สำหรับประเทศไทย ถ้าเป็นน้ำตาลโควตา ข., โควตา ค. ที่เป็นโควตาส่งออก เมื่อส่งออกไปแล้ว จะไม่สามารถนำกลับมาขายในประเทศได้อีก

บทลงโทษผู้กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 27 มีโทษปรับ 4 เท่าของราคาสินค้า หรือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ คาดว่าการลักลอบนำเข้าจะมีแนวโน้มพุ่งขึ้น ส่วนราคาจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ ซึ่งเป็นราคาควบคุม อยู่ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม มีราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก


| 3 สาเหตุ ทุบราคาน้ำตาลร่วง |
นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิต น้ำตาล จำกัด กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงลงต่อเนื่อง เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.กองทุนและนักเก็งกำไรถือตั๋วขายน้ำตาล มีจำนวนมากถึง 5 ล้านตันน้ำตาล จึงฉุดให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วง 2.ฤดูการผลิตปี 2560/2561 จะมีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตจากอินเดียที่จะเพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านตันน้ำตาล เป็น 25 ล้านตันน้ำตาล ในขณะที่ ผลผลิตอ้อยของไทยเคยสูงสุดถึง 105 ล้านตันอ้อย ก็จะเพิ่มเป็น 108 ล้านตันอ้อย โดยจะมีผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 11 ล้านตันน้ำตาล 3.กลุ่มสหภาพยุโรปจะสามารถส่งออกน้ำตาลได้เป็นปีแรกจำนวน 2-3 ล้านตัน หลังจากที่มีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลมากขึ้น โดยคาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้รวมทั้งสิ้น 20 ล้านตันน้ำตาล


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309 วันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว