ศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ (7) วิชารักแรงโน้มถ่วง

28 ต.ค. 2560 | 23:56 น.
MP22-3309-1a วิชา 9 หน้าศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดึง 9 บุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิดในแต่ละแวดวง มาร่วมสืบสานปณิธานพ่อ ผ่านการนำเสนอใน 9 วิชา ที่ทรงใช้พัฒนาชีวิตคนไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

Take A trip ฉบับนี้ ขอนำเสนอ “วิชารักแรงโน้มถ่วง” ซึ่งถ่ายทอดการร่วมสืบสานปณิธานพ่อ โดย “สุชาณัฐ ชิดไทย” บล็อกเกอร์สุดครีเอทีฟเจ้าของเพจ “คนตัวจิ๋ว” นำคุณไปเยือน “โครงการแก้มลิงในพระราช ดำริทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย” เพื่อเรียนรู้การก่อกำเนิดของ “แก้มลิง” มหัศจรรย์แห่งการสังเกตของในหลวง รัชกาลที่ 9

MP22-3309-5a เพราะความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยง พระองค์จึงคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่ทรงเลี้ยงอย่างใกล้ชิด และจากความสนพระทัยนี้ ได้ถูกต่อยอดมาเป็นแนวทางการบริหารจัดการ นํ้าที่สำคัญของประเทศ

MP22-3309-2a เมื่อปี 2538 ไทยต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ เนื่องจากมีพายุหลายลูกพัดผ่านมายังพื้นที่ภาคเหนือ กลางและอีสาน ส่งผลให้ฝนตกหนักจนท่วมแม่นํ้าหลายสาย และกลายเป็นมวลนํ้าก้อนใหญ่มุ่งตรงมายังกรุงเทพฯและปริมณฑล ในหลวงทรงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน โดยวิธีแก้ปัญหาหนึ่งที่ทรงเสนอขึ้นมาก็คือแก้มลิง

การทำแก้มลิง คือ การจัดหาพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็น สระ คลอง บึง หรือพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ก็ได้ เพื่อชะลอและรองรับมวลนํ้าที่กำลังไหลบ่าลงมาเป็น การชั่วคราว และพอนํ้าในทะเลลดลงจึงค่อยๆ ระบายนํ้าในแก้มลิงลงสู่ทะเล ตามหลักแรงโน้มถ่วงของโลก

MP22-3309-6a “ทฤษฎีนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับแรงบันดาลใจจากลิงทรงเลี้ยงสมัยพระเยาว์ เพราะเวลาที่ทรงยื่นกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือกแล้วเคี้ยวอย่างรวดเร็ว แต่แทนที่จะกลืนลงไป กลับกักอาหารไว้จนเต็มกระพุ้งแก้ม แล้วพอถึงเวลาจึงค่อยดุนกล้วยมากินทีละนิดในภายหลัง”

ทั้งนี้พื้นที่ที่ทรงเลือกไว้ทำแก้มลิง คือ “ทุ่งมะขามหย่อง” จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่โปรดฯให้สร้างขึ้น ใหม่ ทว่าก่อนจะได้ทำหน้าที่แก้มลิง กลับเกิดเหตุฉุกละหุกขึ้น เพราะข้าราชการในพื้นที่ไม่ทราบพระราชประสงค์ ด้วยเห็นว่าเป็นพื้นที่สำคัญ จึงพยายามกันไม่ให้นํ้าท่วม กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องมีพระราชกระแสรับสั่งให้ผันนํ้าเข้าพื้นที่ ทำให้ปัญหานํ้าท่วมทุเลาลง ประชาชนและโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงรอดพ้นวิกฤติได้อย่างฉิวเฉียด
ที่สำคัญแก้มลิงยังมีประ โยชน์อีกสารพัด เช่น พอถึงฤดูแล้ง ก็สามารถปล่อยนํ้ามาช่วยเรื่องการเกษตร หรือหากเกิดปัญหานํ้าเสียก็สามารถระบายนํ้าไปเจือจางความสกปรก ตามหลักการ “นํ้าดีไล่นํ้าเสีย” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานไว้

MP22-3309-3a จากความสำเร็จของแก้มลิงที่ทุ่งมะขามหย่อง นำมาสู่แก้มลิงอีกหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ทุ่งทะเลหลวง” จ.สุโขทัย ที่สร้างเพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วมในฤดูนํ้าหลาก และขาดแคลนนํ้าในช่วงหน้าแล้ง โดยรัฐบาลได้ทำ การขุดคลองลอกพื้นที่บริเวณทะเลหลวง ซึ่งเป็นแหล่งเก็บนํ้าในอดีต พร้อมกับออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้เป็น “รูปหัวใจ” ซึ่งในปี 2553 ได้จัดทำบุญพิธีกลั่นแผ่นดิน

โดยให้ทุกครอบครัวรวมกว่า 843 หมู่บ้าน นำดินมาด้วย แล้วทำให้เป็นดินบริสุทธิ์ และตั้งปณิธานร่วมกันว่า จะร่วมกันสร้างแผ่นดินนี้ให้เจริญรุ่งเรือง แล้วนำดินทั้งหมดไปวางรองรับ “พระพุทธรัตนสิริสุโขทัย” อายุกว่า 700 ปี สร้างในสมัย “พระยาลิไท” ที่เคยจมอยู่ในแม่นํ้ายมและถูกค้นพบเมื่อปี 2546 ก่อนอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ มณฑปเกาะกลางแผ่นดินรูปหัวใจ ทุ่งทะเลหลวง และเรียกพื้นที่จุดนี้ว่า “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ” เพื่อสื่อถึงแผ่นดินที่เป็นศูนย์รวมแห่งความรักใคร่ปรองดองของชาวเมืองสุโขทัย และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงาม ท่ามกลางความร่มรื่นของบรรยากาศโดยรอบอีกด้วย

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ในการประยุกต์หลักการวิทยาศาสตร์เข้ากับการสังเกต นำไปสู่การต่อยอดเป็นโครงการมหัศจรรย์ ที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นต้นแบบการบริหารจัดการนํ้า ที่สามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้แก่คนทั่วโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309
วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว