น้อมนำ‘ศาสตร์พระราชา’ ปรับองค์กรธพว.สู่การพัฒนายั่งยืน

01 พ.ย. 2560 | 04:50 น.
1147

‘ศาสตร์พระราชา’ คือ หลักธรรมคำสอนของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งแฝงไปด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่พระองค์ทรงสอนประชาชนไทยผ่านโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ตลอดระยะเวลาการครองราชย์กว่า 70 พรรษา ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลหรือองค์กรใดจะสามารถน้อมนำแนวทางของพระองค์ไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิต หรือ การทำธุรกิจ

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) ภายใต้การนำของ มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ คือ ตัวอย่างขององค์กรที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ จนสามารถปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น จนถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องหยิบยกมาพูดถึงในรายการ ‘ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2560 ว่า เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นไปตามแผน โดยที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี (SMEs) เป็นไปตามเป้าหมาย มีการบริหารจัดการต้นทุนและรายได้ต่อเนื่อง ขณะที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ทยอยลดลง


| ศาสตร์พระราชาสู่องค์กร |
‘มงคล’ กล่าวผ่าน “ฐานเศรษฐกิจว่า” ว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งก็พยายามน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้กับองค์กร โดยมุ่งเน้นการสร้างเงื่อนไขบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย ความพอประมาณ, มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ผ่าน 3 เงื่อนไข ได้แก่ 1.เงื่อนไขคุณธรรม คือ ซื่อสัตย์-มีคุณธรรม, 2.เงื่อนไขหลักวิชา คือ ใช้หลักวิชาวางแผน-ปฏิบัติ และ 3.เงื่อนไขชีวิต คือ ขยัน-อดทน-สติ-ปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่ความสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง


1149

ทั้งนี้ ในส่วนของความสมดุลนั้น เราจะใช้หลักความร่วมมือของพนักงานทุกคน โดยใช้ในการทำงานที่ดีมากู้วิกฤติขององค์กร ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ หากผู้ที่อยู่ในองค์กรไม่ร่วมมือกัน โอกาสที่จะสำเร็จมีน้อยมาก เพราะเพียงแค่กรรมการผู้จัดการหรือคณะกรรมการ ไม่มีทางทำได้สำเร็จ แต่ประเด็นที่สำคัญ ก็คือ ความสมดุลที่ต้องการอยู่ตรงไหน จากการทำความเข้าใจ การอธิบาย การขอความร่วมมือ การทำงานร่วมกันอย่างสมเหตุสมผล และพอเพียง ซึ่งช่วงแรกของการเข้ามาทำงานจึงพยายามสร้างองค์กรคุณธรรม

“ปัญหาขององค์กรแต่เดิม ก็คือ การทำงานแบบแบ่งพรรคแบ่งพวก ซึ่งมาจากการบริหารที่ผิดพลาด ไม่ว่ากรรมการผู้จัดการคนใดที่เข้ามารับตำแหน่ง ก็จะมีการดึงคนสนิทเข้ามาทำงาน ต่างฝ่ายก็จะมองแต่ปัญหาในอาณาจักรของตน ทำให้เกิดเป็นปัญหาสะสม โดยส่วนตัวจึงไม่มีการดึงผู้ใดเข้าทำงาน แต่จะใช้บุคคลากรที่มีอยู่เดิมในการนำองค์กรไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น มาตรการเชื่อมโยงจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำ”

 

[caption id="attachment_224079" align="aligncenter" width="335"] มงคล ลีลาธรรม มงคล ลีลาธรรม[/caption]

| SME-D Culture |
‘มงคล’ กล่าวต่อไปอีกว่า ด้วยความที่เป็นเอสเอ็มอีแบงก์ จึงได้มีการตั้งค่านิยมองค์กรตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย S (Synergy) ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือ, M (Morality) คือ ยึดถือจรรยา, E (Efficiency) คือ ตอบโจทย์คุ้มค่า และ D (Development) ซึ่งหมายถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นที่สำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงเพิ่มทักษะควบคู่ธรรมาภิบาลตามศาสตร์พระราชา เพื่อให้เป็นวัฒนธรรมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องขององค์กร (D Culture) ให้เป็นองค์กรคุณธรรม

สำหรับกระบวนการในการสร้างคุณธรรมนั้น จะดำเนินการโดยมุ่งเน้นการทำให้ทุกฝ่ายรับรู้และยอมรับ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยแปลจากคำว่า ‘คุณธรรม’ มาเป็นพฤติกรรม และแยกพฤติกรรมที่พึงประสงค์กับไม่พึงประสงค์ โดยทำเป็น 2 บัญชี ซึ่งจะทำให้เห็นว่า มีอะไรบ้างที่องค์กรยังขาดและต้องการ เรียกว่า เป็นการร่วมกันกำหนดคุณธรรม เพื่อนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการน้อมนำหลัก ‘ศาสตร์พระราชา’ มาปรับใช้กับองค์ คือ ผลการดำเนินการด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งจากปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 2.91% แต่ ณ ส.ค. 2560 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.69% ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจากปี 2557 อยู่ที่ 5.39% แต่ปี 2560 แค่ช่วงเดือน ม.ค. ถึง ส.ค. อยู่ที่ระดับ 5.32% ขณะที่ NPL ซึ่งมีจำนวน 17,553 ล้านบาท หรือ 17.68% นั้น ปัจจุบัน NPL ของสินเชื่อปล่อยใหม่ตั้งแต่ปี 2558 มีเพียงจำนวน 2,217 ล้านบาท หรือ 2.72% เท่านั้น


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

“ต้องเรียนว่า ทรัพยากรเรามีจำกัด ซึ่งถือว่า เป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงต้องขยัน รวมถึงต้องใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา อีกทั้งต้องใช้ความร่วมมือตามหลักวิชาการ โดยปฏิบัติอย่างได้ผลและไม่ต้องยุ่งยาก คือ การปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ดี และแก้ของเก่าให้ได้ ใช้การทำงานที่เชื่อมโยงกัน และแก้ที่ความน่าเชื่อถือ เพราะที่ผ่านมา ที่นี่มีการทุจริต ประพฤติไม่ชอบ หละหลวม ดังนั้น NPL จากการปล่อยสินเชื่อใหม่จึงมีไม่มาก และเมื่อต้นทุนทางการเงินดีขึ้น ก็ทำให้องค์กรมีกำไร”


| สร้างแนวทางยั่งยืน |
‘มงคล’ กล่าวต่อไปอีกว่า ศาสตร์พระราชา ก็คือ เครื่องมือในการบริหารงาน หรือ เครื่องมือการจัดการปัญหาของชีวิต โดยศาสตร์ดังกล่าวนี้สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยพระองค์ทรงแปลคำสอนออกมาเป็นภาษาที่ง่าย ทำให้เกิดความเข้าใจ และปัจจุบัน จากประสบการณ์ที่ประสบเจอกันมา ทำให้ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนพร้อมที่จะเปิดรับคำสอนของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 มากขึ้น โดยเวลานี้ ปัญหาไม่ได้แค่การอยู่รอด แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากกว่าเดิม เพราะต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

การจะทำให้แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จได้นั้น การดำเนินการในระยะต่อไปของ ธพว. จะมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงที่สุด โดยจะต้องมองปัญหาของลูกค้าให้ออก ซึ่งลูกค้าของเราเป็นเอสเอ็มอีรายเล็ก หรือ กลุ่มที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่ และสถาบันการเงินให้ความสนใจน้อย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงจากการมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามศาสตร์พระราชา ดังนั้น เราจึงต้องพยายามถ่ายทอดความพอเพียงไปยังลูกค้า และสร้างภูมิคุ้มกันให้ ซึ่งจะเปรียบเสมือนเป็นไม้ค้ำยันธุรกิจได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการเงิน หรือ การทำตลาดยุคใหม่ในโลกออนไลน์ เป็นต้น
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

‘มงคล’ กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบ ที่มีการร่วมมือกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ศาสตร์พระราชาจะสอนให้เราน้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องช่วยกันสร้างขึ้น โดยยึดหลักแห่งความสมดุล เพราะหลักของการบริการธนาคารไม่ใช้ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำหนดทุกอย่างได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทุจริต หรือชี้นำ และการเอื้อประโยชน์ ดังนั้น จึงต้องพยายามทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และแสดงให้เห็นว่า การประสานความร่วมมือจะช่วยนำพาองค์กรไปสู่สิ่งที่ดีได้


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309 วันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 2560



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1