จากเลนส์สู่เรื่องราว ... บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 9

26 ต.ค. 2560 | 05:57 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

MP26-3309-b

“นี่คือ โอกาสครั้งสำคัญ ที่ทำให้ผมเป็นช่างภาพจิตอาสาเต็มตัว ทำให้ผมได้ทำงานในสิ่งที่ผมถนัดและรักอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ คือ การมีพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับเด็กอายุ ๓ ขวบ เมื่อสิบกว่าปีก่อน การเดินทางติดตามคุณพ่อ-คุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน ไปถ่ายภาพงานครั้งแรก คือ ‘งานดอนเมืองรำลึก’ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการเรียนรู้กลไกการมองภาพผ่านกล้องคอมแพ็กต์ตัวเล็ก ๆ ในมือเล็ก ๆ ของผมเช่นกัน เมื่อผมอายุได้ ๖ ขวบ ผมได้มีโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต คือ การได้ถ่ายภาพงานพระเมรุในพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี ๒๕๕๑ งานพระเมรุงานแรกในชีวิตของผม”


MP26-3309-5a MP26-3309-1a

ตอนนั้น ผมยังเด็กมาก อาจจะยังรับความรู้หรือข้อมูลต่าง ๆ ได้ไม่มากนัก แต่คุณพ่อก็เลือกที่จะพาผมติดตามไปด้วยทุกครั้งที่ต้องเดินทางไปถ่ายภาพในงานพระราชพิธีต่าง ๆ คุณพ่อจะเตรียมกล้องตัวเล็ก หรือ กล้องคอมแพ็กต์ ไว้พร้อมสรรพ คุณแม่จะคอยช่วยเตรียมเสื้อผ้า น้ำ อาหาร และขนม ใส่กระเป๋า เพราะพวกเราต้องตื่นแต่เช้า เพื่อให้ทันตามกำหนดการและการนัดหมายในส่วนต่าง ๆ ตอนแรกผมยังไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เคยตั้งคำถาม เคยร้องไห้ เคยไม่อยากไป จนได้เห็นรอยยิ้มของประชาชนที่เดินทางมาร่วมงานพระราชพิธีฯ เมื่อพวกเขาได้เห็นภาพของตนเองในกล้องของผม กลายเป็นแรงผลักดันเล็ก ๆ ให้เด็กชายคนหนึ่งเรียนรู้การใช้กล้องถ่ายภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพียงเพื่อการถ่ายภาพให้สวยงาม เพื่อให้ได้รางวัลจากการประกวด เพื่อบันทึกเรื่องราววินาทีประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน เก็บรายละเอียดในหลาย ๆ ส่วน ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่น้อยคนจะได้รับรู้ แต่นี่คือ ความสุขของผมที่ได้เป็นส่วนเติมเต็ม


MP26-3309-6a MP26-3309-3a

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายภาพงานพระเมรุมาแล้ว ๓ งาน ด้วยกัน คือ งานพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี ๒๕๕๑ งานพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปี ๒๕๕๕ และงานพระเมรุ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี ๒๕๕๘ และในปีนี้ ปี ๒๕๖๐ พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ งานที่ ๔ ที่ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปถ่ายในรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่วันแรก ที่ท้องสนามหลวงยังเป็นลานกว้าง เกิดเป็นฐานรากโครงเหล็ก ประกอบเป็นยอดสูง ประดับด้วยงานประติมากรรม งานจิตรกรรม และงานประณีตศิลป์ ที่หลอมรวมช่างฝีมือจากทั่วประเทศ กลั่นความจงรักภักดีจากหัวใจพสกนิกรชาวไทยสู่พระเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ น้อมเกล้าฯ ถวาย “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” เป็นครั้งสุดท้าย และสำหรับผม คือ การก้าวสู่การทำหน้าที่ “ช่างภาพจิตอาสา กรมศิลปากร” อย่างเต็มตัว


MP26-3309-9a

การยึดมั่นในพระราชดำรัสที่ทรงสอนให้ใช้ภาพถ่ายให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุดเป็นหลักสำคัญนั้น การถ่ายภาพในครั้งนี้ของผม คือ การเปิดบันทึกการเรียนรู้บทใหม่ ที่การถ่ายภาพไม่ใช่เพียงการกดชัตเตอร์ แต่ยังต้องรู้ถึงรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้บุคคลอื่นได้เข้าใจ ได้รับรู้ข้อมูลของภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็น องค์ประกอบของการก่อสร้างพระเมรุมาศ คติความเชื่อที่แฝงอยู่ในงานต่าง ๆ นอกจากนั้น อีกหนึ่งหน้าที่ที่ผมรักในงานนี้ คือ การถ่ายภาพเจ้าหน้าที่และจิตอาสาที่ทำงานในแต่ละส่วนอย่างไม่ย่อท้อ รวมถึงช่างภาพและพี่ ๆ สื่อมวลชนที่เข้าพื้นที่พร้อมกับผม เพราะทุกคนได้ร่วมกันทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่เพื่อ “ในหลวง” ของเราทุกคนเช่นเดียวกัน จนเกิดเป็นความรู้จักที่มากกว่าการทำหน้าที่ แต่ทุกคนได้ผลัดกันทำหน้าที่เป็นครู เป็นศิษย์ จนสนิทสนมราวกับรู้จักและคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน


MP26-3309-7a

‘ภาพบันไดนาค’ ภาพหนึ่งที่ผมถ่ายไว้ ได้รับการสอนจากพี่สื่อมวลชนท่านหนึ่งแบบไม่หวงวิชา จากภาพในมุมเดียวกันที่เหมือน ๆ กัน ผมได้รับการสอนให้รู้จักลองใช้ตำแหน่งแสงสปอร์ต พร้อมกับกลไกละอองน้ำ และกลุ่มควันที่เกิดขึ้น ให้เป็นประโยชน์ เกิดเป็นภาพบันไดนาคที่ใช้พญานาคตัวต้นแบบเป็นตัวฉายให้เกิดเงาสะท้อนมาที่ละอองน้ำ เกิดเป็นภาพซ้อนของตัวต้นแบบและเงามาซ้อนกัน เป็นบันทึกความประทับใจของผมในวันนั้น และเป็นหมุดหมายสำคัญให้ผมรู้จักเรียนรู้ เพื่อจะสอนสิ่งที่มีประโยชน์กับรุ่นน้องต่อไปในอนาคต


MP26-3309-2a

ในวันที่พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” เสร็จสมบูรณ์ ทำให้ผมนึกย้อนไปวันที่ ๑๓ ต.ค. ๒๕๕๙ วันนั้นความรู้สึกเศร้าโศกยังไม่เกาะกุมหัวใจของผมมากนัก จนได้ดูรายการพิเศษถ่ายทอดการทรงงานและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ผมเสียใจที่ผมเกิดช้าไป ไม่อาจได้เห็น ได้สัมผัสภาพ เมื่อพระองค์ยังทรงงานหนักเพื่อคนไทยทั้งประเทศโดยตรง ในคืนนั้น ผมตัดสินใจเดินทางไปที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเก็บภาพบรรยากาศวันที่ความทุกข์ของแผ่นดินโหมกระหน่ำสู่หัวใจของคนไทยทั้งประเทศ ผู้คนที่อัดแน่นจำนวนมหาศาลเกินจะนับ ได้ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เสียงสะอึกสะอื้นดังก้องไปทั่วบริเวณ ทำให้ผมซาบซึ้งในความรักที่คนไทยมีต่อพระองค์ท่านอย่างเต็มหัวใจ


MP26-3309-4a

เรื่องและภาพ : นายวาทกานต์ ดะห์ลัน โรงเรียนเทพศิรินทร์
เรียบเรียง : บุรฉัตร ศรีวิลัย


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309 วันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 2560


| ข่าวที่เกี่ยวข้อง |
1- จากเลนส์สู่เรื่องราว... บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 8
2- จากเลนส์สู่เรื่องราว... บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 7
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1