ปรับแผน MRO รัฐลงทุนเอง PPP ล่าช้าบินไทยเสียหาย

28 ต.ค. 2560 | 05:53 น.
“อุตตม” ปรับแผนลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาใหม่ ใช้เงินภาครัฐ 7,600 ล้านบาท ก่อสร้างอาคาร MRO นำร่อง ชี้รอขั้นตอนร่วมทุนเอกชนจะเกิดความล่าช้า กระทบความเสียหายกับการบินไทย ส่วนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์โยนให้เอกชนลงทุนเอง 4,000 ล้านบาท

[caption id="attachment_183607" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TGMRO Campus) โดยกองทัพเรือจะเป็นผู้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารซ่อมบำรุง (Hangar) อาคารโรงซ่อมบริภัณฑ์ โรงพ่นสี พื้นที่ซ่อมบำรุงระดับลานจอด และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตามความจำเป็น ในวงเงิน 7,600 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการปรับแผนการลงทุนในโครงการใหม่

ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัท การบินไทยฯได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตามแผนเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) พบว่า การก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่ ซึ่งจะต้องรื้อถอนศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 ทำให้กระทบต่อการก่อสร้างอาคารผู้โดยสานแห่งที่ 3 ที่มีแผนจะดำเนินการในปี 2563 ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถก่อสร้างได้

อีกทั้งหากรื้อถอนศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมออกก่อนที่การก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ บริษัท การบินไทยฯ จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน สำหรับฝูงบินอาจต้องหยุดชะงัก และต้องส่งเครื่องบินไปซ่อมที่ต่างประเทศแทน ส่งผลให้เกิดการจอดเครื่องบินเพื่อรอซ่อม และกระทบต่อแผนการบิน อีกทั้งพนักงานที่ประจำอยู่อู่ตะเภา ประมาณ 300-400 คน จะต้องทำการโอนย้ายไปประจำที่อื่นชั่วคราว ทำให้บริษัท การบินไทยฯมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่บริษัท การบินไทยฯต้องจ่ายให้ศูนย์ซ่อมที่ต่างประเทศด้วย

จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีสถานที่ให้บริการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้ทดแทนปฏิบัติการของศูนย์ซ่อมอากาศยานเดิม และสามารถย้ายกิจกรรมการซ่อมบำรุงไปยังศูนย์ซ่อมแห่งใหม่ และสามารถรื้อถอนศูนย์ซ่อมเดิมได้ โดยไม่กีดขวางแผนการก่อสร้าง Terminal 3 รวมทั้งป้องกันผลกระทบในเรื่องการสูญเสียรายได้หรือมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของบริษัท การบินไทย

TP11-3308-A นายคณิศ กล่าวอีกว่า หากรอให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนจ้างดำเนินการออกแบบและก่อสร้างเอง ตามกระบวนการที่ดำเนินการอยู่ จะแล้วเสร็จช้ากว่าที่รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเอง ซึ่งขณะนี้รัฐมีงบประมาณในการออกแบบอยู่แล้ว โดยเห็นว่าการลงทุนในรูปแบบที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เองและให้เอกชนลงทุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ในวงเงิน 4,000 ล้านบาทน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด

โดยในส่วนของแผนตอบแทนที่รัฐจะได้ กรณีที่รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารและสิ่งปูลกสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานนี้ บริษัท การบินไทยฯ อยู่ระหว่างการจัดทำ รายงานการร่วมทุน ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ภาครัฐ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกตามประกาศ EEC Track จะได้เจรจาต่อรองผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับให้เกิดข้อยุติที่เหมาะสมต่อไป สำหรับแนวทางดังกล่าวนี้จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้

นายโชคชัย ปัญญาวศ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเมืองการบิน ในฐานะที่ปรึกษาสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา บริษัทการบินไทยฯ และแอร์บัสจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 และจะลงทุนตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 และเริ่มดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงได้ภายในปี 2564

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,308 วันที่ 26 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560
e-book-1-503x62