เปิดใจซีอีโอ‘เป่ายิ้งฉุบ’ มีวันนี้ได้เพราะ‘เสื้อพ่อ’

26 ต.ค. 2560 | 03:44 น.
การฉลองสิริราชสมบัติครบ60ปีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี 2549 ซึ่งพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ ต่างสวมเสื้อสีเหลืองเพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและกลายเป็นกระแสต่อเนื่องมาอีกหลายปี จุดกระแสให้ แบรนด์ “เป่ายิ้งฉุบ” หันมาผลิตเสื้อเหลืองเพื่อรองรับความต้องการ พร้อมข้อความที่ว่า “รู้นะพ่อเหนื่อย”นอกจากจะสร้างความสำเร็จให้กับบริษัท ยังทำให้“ชาลี รัตนวชิรินทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครอบครัวเป่ายิ้งฉุบจำกัด สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ชาลี”ถึงเส้นทางธุรกิจและผู้บุกเบิกเสื้อเหลือง “รู้นะพ่อเหนื่อย”

**ย้อนรอย “เสื้อเหลือง”
“ชาลี” เล่าว่า บริษัทเริ่มต้นจากทำธุรกิจเสื้อยืดเด็กมาก่อนแต่ช่วงเวลานั้นเสื้อผ้าไลเซนส์เข้ามาทำตลาดจำนวนมาก กลายเป็นแรงกดดันทางธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทต้องหันมาศึกษาอย่างจริงจังพร้อมเลือกวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ตัวเองใหม่เป็น“เสื้อยืดครอบครัวอบอุ่น” ต่อมาในปี 2548 ได้เริ่มต้นจากการทำเสื้อ “รักแม่” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “รักแม่ อย่าลืมย่าลืมยาย” โดยยึดพื้นฐานคุณธรรมเป็นหลักและประสบความสำเร็จมียอดขายเกือบ 1 แสนตัว

ช่วงเวลานั้นได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานหนัก ทำให้ตระหนักว่าอยากจะทำอะไรเพื่อพ่อบ้าง จึงตัดสินใจทำเสื้อ“รู้นะพ่อเหนื่อย” ออกมาอย่างเป็นจริงเป็นจังรายแรก ซึ่งเป็นความต้องการและความรู้สึกของทีมงานที่ต้องการแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9ซึ่งทำออกมาก่อนที่จะมีงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยมียอดขายเกือบแสนตัวเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าคนไทยรักในหลวงรัชกาลที่ 9 จริงๆ และถือเป็นมิติทางการตลาดที่ทำให้เกิดเสื้อเหลืองออกมา หลังจากนั้นในช่วงปีที่ 2-3 สามารถขายได้กว่า 7 แสนตัว

[caption id="attachment_223177" align="aligncenter" width="335"] ชาลี รัตนวชิรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครอบครัวเป่ายิ้งฉุบ จำกัด ชาลี รัตนวชิรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครอบครัวเป่ายิ้งฉุบ จำกัด[/caption]

**ที่สุดแห่งความภูมิใจ
เสื้อรุ่น “รู้นะพ่อเหนื่อย” ในช่วงแรกที่ทำมา ถ้าพูดในเชิงความสำเร็จด้านยอดขายถือว่าสูงสุด เป็นผู้จุดกระแสเสื้อเหลือง และทำให้เกิดการลอกเลียนแบบข้อความของบริษัทจำนวนมาก เกิดเป็นมิติเสื้ออีเวนต์รักพ่อรักแม่ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแต่ที่ภูมิใจมาโดยตลอด คือชุดก้าวตามพ่อ (ปี 2558) และภูมิใจเกิดเป็นลูกพ่อ (ปี 2559)

แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายก็ตามแต่ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่าคนไทยมีความรักความศรัทธาต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เสื่อมคลายซึ่งโปรดักต์ทุกตัวที่ผ่านมาของเป่ายิ้งฉุบผ่านกระบวนการนึกคิด สะท้อนภาพออกมา คอนเทนต์ที่บอกออกมาบนตัวเสื้อ คือ คอนเทนต์ที่สะท้อนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศจริงๆ เป่ายิ้งฉุบภูมิใจ ที่ทำให้บนอกของประชาชนชาวไทยได้บอกอะไรบางอย่างให้พ่อได้รับรู้ถือเป็นความสำเร็จของเป่ายิ้งฉุบ

**เดินหน้าต่อกับเสื้อรักพ่อ
เป่ายิ้งฉุบจะยังคงผลิตและจำหน่ายเสื้อรักพ่อต่อไป เพราะเสื้อครอบครัวอบอุ่นเป็นพื้นที่ของเป่ายิ้งฉุบ บริษัทจะยังคงรักษาพื้นที่นี้ไว้ เสื้อรักพ่อรักแม่จะยังคงต้องทำแต่ทำในรูปแบบอย่างไร เนื้อหาอย่างไรนั้นยังไม่สามารถบอกได้แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจก็ตามแต่บริษัทก็ปรับตัวมาโดยตลอด อย่างเช่น ปีที่ผ่านมานำเสื้อเหลืองไปย้อมสีดำ การจัดทำกิจกรรมซีเอสอาร์ด้วยการแจกเสื้อเหลือง หรือแม้แต่การรีไฟแนนซ์ธุรกิจก็ตาม

**แผนงานในอนาคต
ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีหน้า ได้เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่กลุ่มเสื้อออร์แกนิกเสื้อผ้านวัตกรรม เสื้อผ้าไทยและเสื้อท่องเที่ยวเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ซึ่งประเมินว่าสถานการณ์ภาพรวมในปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวรวมถึงอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยสินค้าที่บริษัทจะเปิดตัวนั้นจะยังคงยึดแนวทางการพัฒนาสินค้าตามคอนเซ็ปต์“ครอบครัวอบอุ่น” ที่เป็นสินค้าสำหรับกลุ่มพ่อแม่และลูกซึ่งเป็นไปตามปรัชญาของบริษัท “องค์กร ปัญญา ความดีงาม”

ในเดือนพฤศจิกายนยังได้เตรียมเปิดตัวสินค้าเสื้อยืดที่มีเนื้อหา“10คำบันดาลใจ ครอบครัวอบอุ่น” ที่มีข้อความต่างๆ อาทิ กินข้าวยัง คิดถึงนะ เพื่อสานต่อกับปรัชญาองค์กรที่เป็นเสื้อยืดครอบครัวอบอุ่นรวมถึงจะมีสินค้าใหม่ในเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,308 วันที่ 26 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560
e-book-1-503x62