ด้วยพระเมตตา จาก‘โซลูน่า’สู่‘โรงสีข้าว’

28 ต.ค. 2560 | 00:29 น.
MP33-3308-1A พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ กษัตริย์ผู้ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ไม่ว่าจะเกิดความทุกข์เข็ญ ชีวิตความเป็นอยู่ยากไร้ ราษฎรเดือดร้อนแห่งไหน หากความทราบถึงพระเนตพระกรรณ นํ้าพระทัยของพระองค์ท่านก็แผ่ไพศาลไปถึงทั่วแผ่นดิน

หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยข้อมูลจากสารสภาวิศวกร ฉบับเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2550 เล่าโดย “นินนาท ไชยธีรภิญโญ” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงปี 2540 ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 มีข่าวลือในหน้า นสพ.ว่าโตโยต้าจะปิดโรงงาน-ลอยแพพนักงาน 5,500 คน

บริษัทจึงจัดแถลงข่าวว่าไม่เคยคิดปิดโรงงาน ต่อมามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ด้วยพระมหา กรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยพนักงานโตโยต้า วันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 เลขานุการส่วนพระองค์ได้โทรศัพท์แจ้งว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์สั่ง “ซื้อ” รถโตโยต้า โซลูน่า 1 คัน โดยให้พนักงานใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ไม่ต้องรีบ พนักงานคนไทยจะได้มีงานทำนานๆ

MP33-3308-2A เมื่อโตโยต้านำรถไปถวายพระองค์ในเดือนธันวาคม 2540 พระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 600,000 บาท แต่ทางโตโยต้าไม่รับเงิน จึงทรงมีพระราชดำริใหม่ว่าให้นำเงินไปตั้งโรงสีข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาละแวกใกล้เคียงโรงงานผลิตรถ เพราะโตโยต้ามีการบริหารจัดการที่ดีจึงควรตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้นเอง แล้วขายในราคาสวัสดิการให้แก่พนักงานหรือชาวบ้าน และขายผลพลอยได้ เช่น แกลบและรำ ให้แก่เกษตรกรชุมชนที่เลี้ยงหมู จึงเป็นที่มาของโรงสีข้าวรัชมงคลที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด เปิดดำเนินการเดือนมิถุนายน พ.ศ.2542 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทถ้วน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกร สร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงแก่ลูกค้าในราคาที่เหมาะสม ให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้โดยมิได้มุ่งหวังกําไร

อดีตประธานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย “มิทซึฮิโระ โซโนดะ” เคยเปิดเผยในหนังสือครบรอบการดำเนินธุรกิจของโรงสีข้าวรัชมงคลในปี 2552 ว่า ในช่วงแรกของการดำเนินงานต้องพบกับการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง (ปีงบประมาณ 2549 ยังมียอดขาดทุนสะสม 13.1 ล้านบาท)

ดังนั้นหลังจากผู้บริหารโตโยต้าเข้าเฝ้าฯในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ วังไกลกังวล พร้อมถวายรายงานในปี 2552 ว่าโรงสีข้าวแห่งนี้ยังขาดทุนสะสม (ซึ่งโตโยต้าก็ไม่ได้หวังกำไรอยู่แล้ว) พระองค์ท่านตรัสว่า

MP33-3308-3A “ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา”

ซึ่งประโยคนี้ ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้โตโยต้ากลับมุ่งมั่นพัฒนาระบบและรูปแบบของการดำเนินงานของโรงสีข้าว ทั้งการผลิต การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยโรงสีข้าวรัชมงคลแห่งนี้ นำแนวคิดในการผลิตรถยนต์ของโตโยต้ามาใช้คือ จะไม่มีการสต๊อกข้าวเปลือก หรือเมื่อผลิตเป็นข้าวสารแล้วไม่ทิ้งไว้นาน แต่วางระบบให้ข้าวเปลือกที่เข้ามาแต่ละล็อต สามารถสีเป็นข้าวสาร จากนั้นบรรจุผลิตภัณฑ์ และขนส่งออกไปจำหน่ายทันที

ดังนั้นข้าวรัชมงคล จึงเป็นข้าวใหม่ที่มีคุณภาพและไม่ต้องใช้ยาฆ่ามอด ไล่แมลง อีกด้วย ปัจจุบันมีกำลังผลิต 5,000-6,000 ตันต่อปี

จากจุดเริ่มต้นของการถวายรถยนต์หนึ่งคัน สู่ความห่วงใยในพสกนิกร ของพระองค์ท่าน จนเป็นที่มาของโรงสีข้าวรัชมงคล แม้ธุรกิจจะแตกต่างจากการผลิตรถยนต์ แต่ด้วยเป้าหมายที่เดินคู่ขนานตามวิสัยทัศน์ขององค์กรโตโยต้าคือ การทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ตอบแทนสังคม และเติบโตไปร่วมกัน

MP33-3308-4A **โตโยต้า โซลูน่า
โตโยต้า โซลูน่า (Toyota Soluna) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก โดยวิศวกรโตโยต้า น้อมนำแนวพระราชดำรัสมาพัฒนารถคันนี้ เน้นอัตราบริโภคนํ้ามันที่เป็นมิตร ราคาไม่แพง สามารถลุยนํ้าท่วมได้ เพราะกรุงเทพฯ ต้องประสบปัญหานํ้าท่วมขังอยู่บ่อยครั้ง

โดยรถยนต์รุ่นนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2540 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วางเครื่องยนต์ 5A-FE แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC ขนาด 1.5 ลิตร 94 แรงม้า มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด เกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด (เปิดตัวทีหลัง) ราคาขายประมาณ 330,000 บาท ส่วนรุ่นที่ติดอักษรและตัวเลขไทย ผลิตจำนวนจำกัด 600 คัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,308 วันที่ 26 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560
e-book-1-503x62