“ธรรมะของพระราชา” ... สู่ความสำเร็จของ “ฟาร์มอินทร์แปลง”

30 ต.ค. 2560 | 05:10 น.
1151
MP26-3308-5A


จากเด็กผู้ชายคนหนึ่ง อายุเพียง 14 ปี ‘เบส’ นายปฏิวัติ อินทร์แปลง ได้เขียนจดหมายขอพระราชทานวัวนม จากที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ใน ‘โครงการมอบวัวแก่เกษตรกร’ เขาเขียนเล่าเรื่องราวชีวิตของครอบครัว ที่มีเพียงเขาและแม่ที่ทำอาชีพเลี้ยงวัว รีดนมวัวขาย จากวัวที่ตามอบให้มาเพียง 1 ตัว เป็นต้นทุนในการเลี้ยงชีพ และเขาก็ได้รับพระราชทานวัวนม 1 ตัว ที่นอกจากจะสร้างความปลื้มปิติให้กับเขาแล้ว มันยังเป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เขายึดอาชีพเกษตรกรเลี้ยงวัวนมมาจนทุกวันนี้



MP26-3308-6A

‘เบส’ บอกว่า จากเมื่อ 11 ปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ เขามีวัวทั้งหมด 55 ตัว เขาก็ยังยึดแนวทางการดำเนินชีวิตตามคำสอนของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เขาเติบโตด้วยการพึ่งพาตนเอง และรู้จักการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง


MP26-3308-7A

เมื่อถามว่า ‘เบส’ พึ่งพาตนเองและดำเนินชีวิตแบบพอเพียงอย่างไร เขาอธิบายว่า การทำอาชีพเกษตรกรของเขา เรื่องแรกที่มอง ไม่ใช่เรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของการสร้างฟาร์มให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ส่วนเรื่องเงินหรือรายได้ มองเป็นเรื่องที่ 2 บางงานที่ถูกนำเสนอเข้ามา เป็นงานที่มีรายได้เยอะจริง แต่ถ้าเขารับทำ ก็มีรายได้เพียงทางเดียว แถมยังคุมอะไรไม่ได้เลย ซึ่งเสี่ยงและไม่ยั่งยืน แบบนั้นเขาก็จะไม่รับ การบริหารฟาร์มของเขา ต้องสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง อย่าง น้ำนมดิบที่เขาได้มาวันละ 500 กิโลกรัม เขาสามารถบริหารช่องทางการสร้างรายได้ด้วยตัวเองได้ทั้งหมด


MP26-3308-8A

“แรก ๆ ผมก็ส่งน้ำนมดิบให้กับโรงงานของสหกรณ์โคนม แต่ 3 ปีหลัง ผมเปลี่ยน เพราะฟาร์มเราอยู่ไกลจากสหกรณ์ เรามาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องเดินทางไกลล เราเลยเริ่มทำตลาดเองที่ชุมพร และเริ่มพัฒนาสู่การแปรรูปน้ำนมดิบ ด้วยการนำมาทำชีส ทำเนย ทำนมพาสเจอไรซ์รสต่าง ๆ โดยการไปเพิ่มเติมความรู้จากการเทกคอร์สสั้น ๆ”

‘เบส’ เล่าอีกว่า ตอนเรียนจบ ม.6 เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือ “ธรรมะ จากพระเจ้าแผ่นดิน” หนังสือที่รวบรวมคำสอนของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เรื่องที่เขาสนใจมาก คือ เรื่องของการพึ่งพาตนเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้ และสามารถนำมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ ง่าย ๆ เลย ที่ยกตัวอย่างได้ คือ เรื่องของฟาร์มที่ปลอดของเสีย “ทำทุกอย่างที่ใช้-ใช้ทุกอย่างที่ทำ”


MP26-3308-2A

“เอามูลวัวมาทำปุ๋ยและทำก๊าซชีวภาพ นำมาทำพลังงานใช้ภายในฟาร์ม น้ำเสียก็ส่งต่อไปให้เกษตรกรที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ส่งให้กับฟาร์มของเรา เพื่อใช้รดน้ำ การเรียนรู้เรื่องราวนี้มันง่ายมาก เพียงแต่เกษตรกรต้องเข้าใจแก่นแท้ของมัน อยู่ที่เจ้าของฟาร์มจะมีมุมมองในการบริหารฟาร์มอย่างไร แต่ธรรมชาติของเกษตรกรไทยยังชอบทำตาม ๆ กัน ไม่คิดต่าง ในหลวงบอกให้เราคิดอย่างมีเหตุมีผล ต้องรู้จริง ศึกษาอย่างถ่องแท้ และเรียนรู้ตลอดเวลา


1200

เกษตรกรหนุ่มคนนี้ บอกว่า เขาไม่ได้เรียนการตลาด หรือ การบริหาร มาจากที่ไหน แต่เขาได้ความรู้มาจากหนังสือ “ธรรมะจากพระเจ้าแผ่นดิน” รวมทั้งหลักคำสอนต่าง ๆ ของพระองค์ท่าน ที่เขาศึกษาจนถึงแก่นแท้ ทำความเข้าใจ แล้วนำมาปฏิบัติ


MP26-3308-4A

ตอนนี้ ‘เบส’ สามารถสร้างรายได้จากน้ำนม มูลวัว น้ำเสีย และการเลี้ยงลูกวัวขาย ซึ่งทั้งหมดเป็นรายได้ที่เกื้อกูลกัน เขาสามารถพัฒนาการผลิตแปรรูป สร้างรายได้จากน้ำนมวัว ทั้งจากน้ำนมดิบ นมพาสเจอไรซ์ ที่มีทั้งหมด 6 รสชาติ ที่ทำตลาดทั้งที่ชุมพร หาดใหญ่ ภูเก็ต สมุย กรุงเทพฯ และมีบางส่วนที่ทำตลาดในเมียนมา นอกจากนี้ ยังมีโยเกิร์ตที่ไม่ผสมน้ำตาลและไอศกรีมเจลาโต้

ขณะนี้ เขาได้พัฒนาไปสู่การสร้างคอนแทร็กต์ฟาร์ม ซึ่งมีเข้ามาร่วมแล้ว 2 ฟาร์ม โดยคัดเลือกจากเกษตรกรที่มีทัศนคติพร้อมที่จะพัฒนาไปด้วยกัน พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อทำให้อาชีพคนเลี้ยงวัว หรือ ฟาร์มโคนม เติบโตได้อย่างยั่งยืน


MP26-3308-1A

เป้าหมายสูงสุดของ ‘เบส’ คือ การมีโรงงานเป็นของตัวเอง และผลิตนมโรงเรียนที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทย โดยเริ่มต้นจากชุมพร บ้านเกิดของเขาก่อน เขาตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปี จะมีแม่วัว 200 ตัว คอนแทร็กต์ฟาร์มอีก 10 ฟาร์ม มีโรงงานของตัวเอง แล้วเดินหน้าทำตามความฝันอย่างเต็มที่

จากเมื่อหลายปีก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาฟาร์มโคนม และฟาร์มโคนมก็สามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชากรของพระองค์ได้ หากเกษตรกรรู้จักวางระบบบริหารที่ถูกต้อง ทำไมที่ประเทศอื่นจึงมีการทำฟาร์มในแค่บางพื้นที่ แต่ประเทศไทยสามารถทำได้ทั่วประเทศ เรื่องเหล่านี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุน ช่วยโฆษณารณรงค์ให้คนไทยดื่มนม หากรัฐบาลดำเนินการจริงจัง มองเห็นโอกาสของคนไทยเช่นสายพระเนตรอันกว้างไกลของพ่อหลวงของคนไทย อาชีพฟาร์มโคนมจะสดใสกว่านี้อีกมากมาย


คอลัมน์ : ยังบลัด
เรื่อง : พัฐกานต์ เชียงน้อย


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,308 วันที่ 26-28 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว