‘รับสั่ง... อย่าละทิ้งเกษตรกร’ อานิสงส์ข้าวไทยเข้มแข็ง

26 ต.ค. 2560 | 02:46 น.
0942

[caption id="attachment_222928" align="aligncenter" width="503"] “ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลด การปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชน คนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศ ไม่ได้ เราก็ต้องปลูก” “ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก”[/caption]

กระแสพระราชดำรัส ในปี ๒๕๓๖ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๙ พระราชดำรัสเกี่ยวกับข้าวและชาวนาไทย ที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ... ที่ทรงมีพระเมตตาต่อเกษตรกรไทยและทรงมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวนา

กระแสพระราชดำรัสนี้ ได้สร้างอานิสงส์ต่อเนื่องไปถึงผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้า และผู้ส่งออกข้าว ที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย เพราะหมายความว่า เมื่อเกษตรกรชาวนายังมีการปลูกข้าว ... การค้า การส่งออกข้าวก็จะยังมีอยู่คู่กับประเทศไทยไปตลอดอย่างยั่งยืน

“ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮ่วยชวนค้าข้าว จำกัด หนึ่งในบริษัทค้าข้าวที่มีประวัติมายาวนาน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้นำหลักคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” มาประยุกต์ใช้ และถ้าเราดูเนื้อหาปรัชญาของท่าน จะเห็นว่า เป็นเรื่องที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และความมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งรวม ๆ แล้ว ลักษณะการทำธุรกิจของบริษัทเดินอยู่ในทางสายกลาง คือ ไม่เร่งรีบเกินไปและไม่ช้าจนเกินไป จนทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง

“บริษัทได้นำแนวปรัชญาของพระองค์ท่านมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเป็นเวลานาน โดยธุรกิจที่เราทำอยู่ คือ การส่งออกข้าว เราจะไม่เน้นส่งออกข้าวไปในปริมาณมาก ๆ แต่จะค่อย ๆ ทำธุรกิจ โดยเน้นเรื่องคุณภาพและบริการเป็นหลัก ซึ่งการบริการในที่นี้ คือ การส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ และตรงต่อเวลา หรือแม้แต่การขยายงาน เราเองก็มีการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง รวมถึงการใช้องค์ความรู้ในการทำธุรกิจให้เข้มแข็งขึ้น”

 

[caption id="attachment_222930" align="aligncenter" width="503"] ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์[/caption]

บริษัทยังได้นำหลักคิดของพระองค์ท่านในการพัฒนาคน โดยการให้องค์ความรู้แก่พนักงาน มีการส่งไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจะได้รู้ว่า ประเทศอื่น ธุรกิจอื่น เขาทำงานกันอย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบและหาวิธีปรับปรุงสิ่งที่เราทำอยู่ให้ดีขึ้น

“ผมได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านที่หัวหินครั้งหนึ่ง ก็รู้สึกปลาบปลื้มมาก พระองค์ท่านพูดเกี่ยวกับข้าว เพราะท่านเป็นผู้ริเริ่มแปลงสาธิตเกษตรเกี่ยวกับการปลูกข้าว และการพัฒนาพันธุ์ข้าวต่าง ๆ ท่านก็ทรงรับสั่งให้ช่วยดูแลเกษตรกรด้วย เพราะว่าเกษตรกรเป็นผู้ผลิตข้าว เป็นกระดูกสันหลังของชาติที่มีความสำคัญ ดังนั้น เราจะต้องไม่ทิ้งกัน ซึ่งผมก็ได้น้อมรับกระแสพระราชดำรัสนำกลับมาปฏิบัติ อะไรที่ทำได้ก็ทำ หรือทำในรูปของสมาคมผู้ส่งออกข้าว ซึ่งสมาคมเองก็มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนามาโดยตลอด สิ่งที่ท่านริเริ่มก็มีการนำมาต่อยอดโดยตลอด ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยมีความเข้มแข็งในทุกวันนี้”

สอดคล้องกับ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่กล่าวว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” มาปรับใช้ในการทำงาน โดยที่ผ่านมา จะเห็นว่า สมาคมเองมีการทำ CSR (การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม) อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินให้กับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ บริจาคเงินให้กับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เพื่อสร้างศูนย์พยาบาลช่วยเหลือผู้ป่วยยากจน รวมไปถึงการทำโครงการท่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรที่หมู่บ้านดอนชี จ.อุบลราชธานี และล่าสุด ได้ทำโครงการลดต้นทุนในเรื่องค่ารถเกี่ยวข้าวให้กับชาวนาในภาคอีสาน ๕,๐๐๐ ราย ไร่ละ ๒๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๐ ล้านบาท เป็นต้น

 

[caption id="attachment_222932" align="aligncenter" width="503"] เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ เจริญ เหล่าธรรมทัศน์[/caption]

สำหรับเศรษฐกิจพอเพียงตามความเข้าใจ คือ เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยตัวเองให้ประสบความสำเร็จ หรือถ้าเป็นครอบครัว ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคนอยู่อย่างสบาย พอมีพอดี ไม่ต้องฟุ่มเฟือย ซึ่งการที่จะบริหารจัดการให้เพียงพอ เราต้องพร้อมที่จะมีการปรับเปลี่ยนในระยะยาว เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สามารถควบคุมได้

“เศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจ ส่วนหนึ่ง คือ เราจะทำอย่างไรที่จะให้ความสามารถของเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ที่เกี่ยวข้องไปในทิศทางที่เราต้องการ เช่น ลูกน้องที่เรามีอยู่ เขาอยู่กันอย่างไร เพียงพอหรือไม่ โรงงานหรือกิจการที่ดำเนินการอยู่เป็นอย่างไร และสุดท้ายก็ต้องขยายไปยังสังคม การช่วยเหลือสังคมให้มีสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา สมาคมผู้ส่งออกข้าวได้คืนกำไรสู่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง เราเริ่มจากสมาชิกของเราเองว่า ใครมีอะไรเดือดร้อนเราก็ช่วยเหลือกัน ซึ่งผมเองก็ยึดถือแบบนี้มาโดยตลอด”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๓,๓๐๘ วันที่ ๒๖-๒๘ ต.ค. ๒๕๖๐


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว