รัชกาลที่ 9 กับ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

24 ต.ค. 2560 | 23:30 น.
TP04-3308-a
พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯได้พระราชทานแนวคิดการพัฒนาให้แก่ประชาชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาได้แก่ การสร้างความมั่นคงจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยปรับตามสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ (มูลนิธิปิดทองหลังพระ) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริต่างๆ โดยได้ริเริ่มและดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบและมีการขยายผลสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระในโครงการวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษาที่ชื่อว่า การศึกษาโมเดลการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ ผ่านการจัดเวทีการระดมความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เมื่อปี 2559 ดังนั้น ในโอกาสนี้ผู้เขียนจะเขียนถึงมูลนิธิปิดทองหลังพระ และข้อสรุปบางส่วนจากโครงการวิจัยดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ


TP04-3308-2a

มูลนิธิปิดทองหลังพระ พัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงการปิดทองหลังพระ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 พันธกิจของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ได้แก่ การจัดการความรู้และการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ มูลนิธิมีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในพื้นที่ที่มีปัญหา ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบแก้ไขปัญหาและบูรณาการพื้นที่จังหวัดน่าน โครงการบริหารจัดการนํ้าอย่างยั่งยืนจังหวัดอุดรธานี โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยจังหวัดกาฬสินธ์ุ และโครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น มูลนิธิปิดทองหลังพระ สร้างระบบการพัฒนาที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก และยึดถือความคิดเห็น ความต้องการและศักยภาพของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ส่งเสริมให้ชุมชนยากจนลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชอาหาร ปศุสัตว์และประมง

โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาโมเดลการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โมเดลการพัฒนาในต่างประเทศ โดยคัดเลือกโมเดลการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ และมีบริบทการพัฒนาที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 5 โมเดล เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบและหาแนวทางในการประยุกต์ใช้กับโครงการพัฒนาต่างๆของมูลนิธิปิดทองหลังพระ โดยมีหลักการดังนี้ (1) ให้บทเรียนในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และ (2) เป็นชุมชนที่สามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง

คณะผู้วิจัยจึงเลือกวิเคราะห์โมเดลการพัฒนา 5 โมเดล ใน 5 ประเทศ ได้แก่ โครงการวิสาหกิจชุมชนในไต้หวัน โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในหลวงพระบาง โครงการพัฒนาธุรกิจเพื่อชุมชนในตอนใต้ของ จีน โครงการสหกรณ์ในญี่ปุ่น และโครงการพัฒนาในประเทศบังกลาเทศขององค์กรพัฒนาเอกชน 2 องค์กรซึ่งมีบทบาทนำและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั่วโลก องค์กรแรกได้แก่ BRAC ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศและขยายบทบาทการพัฒนาไปสู่ต่างประเทศ องค์กรที่สอง ได้แก่ ธนาคารกรามีน ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เมื่อพ.ศ.2549 ผู้เขียนจะขอสรุปข้อเสนอแนะจากงานวิจัยในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบในประเทศบังกลาเทศและเปรียบเทียบกับโครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระ


TP04-3308-1a

กรอบของการพัฒนาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ประกอบไปด้วยการพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นใน 3 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับครัวเรือน (2) ระดับชุมชน และ (3) ระดับพื้นที่/ภูมิภาค เมื่อเทียบกับกรอบดังกล่าว โมเดลการพัฒนาของบังกลาเทศสามารถเทียบกับการพัฒนาในขั้นที่ 1 คือ ขั้นครัวเรือนพึ่งตนเองได้ ซึ่งนับว่ามีความสำเร็จที่ค่อนข้างชัดเจน ประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ได้แก่ การสร้างวินัยทางการเงิน ทั้งวินัยในการกู้ยืม และวินัยในการใช้จ่ายและการออมเงิน เพื่อเป็นพื้นฐานที่แข็ง แกร่งในการพัฒนาด้านอื่นๆ โดยในระยะแรก ทั้งธนาคารกรามีนและ BRAC เน้นการทำงานในกลุ่มผู้หญิงที่ยากจน การที่ให้เงินกู้แก่ผู้หญิงเหล่านี้โดยผ่านโครงการไมโครไฟแนนซ์ เป็นการสร้างความเข้มแข็งของสมาชิกและนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาและสาธารณสุข

ในช่วงหลังทั้งสองหน่วยงานได้กระจายการให้บริการทาง การเงินไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เช่น เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เยาวชน ตลอดจนผู้ที่มีฐานะยาก จนมาก ซึ่งมักจะไม่มีโอกาสใน การใช้บริการทางการเงิน นอกจากนั้นทั้งสองหน่วยงานยังช่วยสร้างอาชีพให้สมาชิก โดยการให้คำแนะนำให้แก่สมาชิกในการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจและกิจกรรมที่มีโอกาสสร้างรายได้ เช่น เลี้ยงไก่ เปิดร้านขายของ ทอผ้า ปลูกผัก ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว และชำระคืนเงินกู้

จากงานวิจัยข้างต้น พบว่าแนวคิดในการพัฒนาที่เป็น องค์รวมและการประสานพลังระหว่างโครงการพัฒนาต่างๆ ในเขตพื้นที่เดียวกัน จะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถสร้างชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มต้นจากปัญหาในพื้นที่ ส่งเสริมการสร้างธุรกิจเพื่อพัฒนาสังคมและวิสาหกิจชุมชน สร้างโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมและหาพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมพัฒนา แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาของมูลนิธิปิดทองหลังพระ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,308 วันที่ 26 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว