ประกันสังคมแจงปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบพร้อมเพิ่มประโยชน์ทดแทน

22 ต.ค. 2560 | 13:17 น.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงกรณีผู้นำแรงงานไม่เห็นด้วยกับสำนักงานประกันสังคมที่มีการปรับเพิ่มเงินสมทบ ด้านเลขาธิการ สปส.แจงการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพ และสภาวะเศรษฐกิจและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ชี้ เมื่อผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่มก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มตามไปด้วย โดยยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงถึงกรณีการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพ และสภาวะเศรษฐกิจและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ ซึ่งได้จัดประชุมฯ ไปแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2559 – 30 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

sps

เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย นายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อหาแนวทางในการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ โดยเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยผู้เข้าร่วมฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยในการปรับฐานเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมยังได้รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม และเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2559 – 30 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีผู้สนใจตอบแบบสอบถามจากทั่วประเทศ

เลขาธิการฯ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวผู้นำแรงงานอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนทำให้เข้าใจผิดว่าผู้ประกันตนทุกคนจะได้รับผลกระทบในการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ขอยืนยันว่า ยังคงเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างเท่าเดิม ดังนั้นผู้ประกันตนส่วนใหญ่ที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท ยังคงจ่ายเงินสมทบเท่าเดิม และไม่มีผลกระทบใดๆ ส่วนของผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท ซึ่งจากฐานข้อมูลประกันสังคมพบว่ามีจำนวนร้อยละ 30 ของผู้ประกันตนทั้งหมด จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้าง 16,000 จ่ายเงินสมทบ 800 บาท ค่าจ้าง 17,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 850 บาท ค่าจ้าง 18,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 900 บาท และค่าจ้าง 19,000 บาท จ่าย 950 บาท ค่าจ้าง 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท ต่อเดือน

sps2

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น เช่น ได้เงินสะสมกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกับได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเดือนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบที่ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท กับ 20,000 บาท เช่น กรณีว่างงาน จากการลาออกได้รับ 3 เดือน จากเดิมได้เดือนละ 4,500 บาท ได้เพิ่มเป็นเดือนละ 6,000 บาท แต่หากถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ได้รับ 6 เดือน จากเดิมเดือนละ 7,500 บาท ได้เพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท ในกรณีผู้ประกันตนทุพพลภาพจะได้รับเงินชดเชยไปตลอดชีวิต ซึ่งจากเดิมเดือนละ 7,500 บาท ได้เพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาทต่อเดือน และกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต นอกจากจะได้ค่าทำศพ 40,000 บาทแล้ว ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 7,500 บาท เป็นเดือนละ 10,000 บาท

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวงปรับฐานและเพดานค่าจ้างในการนำส่งเงินสมทบ และพร้อมรับความคิดเห็นของนายจ้าง ผู้ประกันตน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมยังคงยึดมั่นประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ อันจะส่งผลให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับบำนาญชราภาพหลังเกษียณอายุเพียงพอต่อการดำรงชีพต่อไป

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว