ล่า ‘ไฮยีลด์’ ระวังเจ๊ง! ธปท.เตือนเสี่ยงสูง บอนด์เรตต่ำทะลัก

22 ต.ค. 2560 | 05:37 น.
แบงก์ชาติเตือนนักล่าผลตอบแทนสูงระวังเจอตอ หลังพบประเทศไร้ศักยภาพแห่ออกตราสารหนี้ไร้เครดิต เหตุดอกเบี้ยตํ่านาน-สภาพคล่องในระบบสูงด้าน“ทิสโก้” ลั่นตลาดออกหุ้นกู้เริ่มเพี้ยน บริษัทไม่มีเครดิตตบเท้าออกแสนง่าย-ต้นทุนถูกกว่ากู้แบงก์ กระทบก่อหนี้ผิดประเภท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวภายหลังเดินทางกลับจากประชุมประจำปีธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่าความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีความเสี่ยงลดลง เพราะเกิดจากการปรับโครงสร้าง และมีสถานะที่ดีขึ้น แต่เริ่มเห็นความเสี่ยงไปอยู่ในสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) มากขึ้น เมื่อย้อนไปในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินจะพบว่าเกิดจากความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นความเสี่ยงถูกโยกไปสู่นอนแบงก์

[caption id="attachment_222266" align="aligncenter" width="359"] วิรไท สันติประภพ วิรไท สันติประภพ[/caption]

ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่าเป็นเวลานาน สภาพคล่องในระบบสูง ก่อให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง (Search For Yield) แต่ในภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกที่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง ไปสู่พฤติกรรมตามล่าผลตอบแทนสูง(Hunt For Yield)

ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ Hunt For Yield สะท้อนผ่านการออกตราสารหนี้ โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ Investment Grade จากเดิมที่กระจายในอันดับ A หลายตัว หรือ B หลายตัว แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นตราสารหนี้ที่ออกไปกองอยู่ในอันดับตํ่าสุด เช่น สัดส่วน BBB จะมีสัดส่วนประมาณ 20% ของตราสารออกใหม่ แต่ปัจจุบันสัดส่วนประมาณ 50% ของตราสารออกใหม่ไปกองอยู่ในอันดับตํ่าสุด

นอกจากนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นประเทศที่ไม่เคยออกตราสารหนี้หันมาออกมากขึ้น หรือประเทศที่เคยผิดนัดชำระ (Default) ประเทศที่มีสงคราม กลางเมืองก็มีการออกตราสารหนี้เหล่านี้ออกมา เช่น ในทวีปแอฟริกา ที่ไม่เคยออกก็หันมาออกตราสารหนี้ สะท้อนถึงพฤติกรรม Search For Yield หรือ Hunt For Yield ซึ่งไม่ได้สะท้อนคุณภาพของตราสารหนี้เหล่านั้น

สำหรับความเสี่ยงของตลาดตราสารหนี้ไทย ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เช่น ตั๋วแลกเงิน (B/E) ตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ(Unrated Bond) ที่มีปัญหาเมื่อช่วงปลายปีก่อนนั้น ปัจจุบันธนาคารเริ่มมีความระมัดระวังมากขึ้น

ในภาวะที่สภาพคล่องสูง ดอกเบี้ยตํ่า จะเห็นการลงทุนไหลเหมือนนํ้า โยกจากประเทศที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดไปสู่กฎเกณฑ์ที่เบาลง ทำให้เห็นการโยกการลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ไปสู่นอนแบงก์ หรือสหกรณ์ออมทรัพย์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.จับตาใกล้ชิด”

“ความผันผวนของสินทรัพย์ค่อนข้างตํ่า แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง เป็นผลมาจากการประเมินความเสี่ยงที่ตํ่า เช่น ความผันผวนที่เกิดจากด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่ราคาหุ้นก็ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่าประเด็นบางอย่างที่น่าจะสร้างความกังวล แต่ไม่ได้กังวล ถือเป็นการชะล่าใจ และหากมีปัญหาเกิดขึ้นซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ อาจจะเกิดเป็น Correction ค่อนข้างแรง”

รวมถึงการก่อหนี้ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการเงินที่ถูก ทำให้เกิดการก่อหนี้ที่เร็วและแรง ทั้งในส่วนของภาคที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น บริษัทต่างๆ และภาคครัวเรือนที่ผ่านหนี้ครัวเรือนหากมีสัดส่วนหนี้เร่งตัวสูงจะมีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปีถัดไป เพราะไม่มีพลังในการขับเคลื่อนจากหนี้ที่สูง

“ข้อดีของไทยพึ่งพาเงินต่างประเทศน้อย ต่างชาติถือพันธบัตรไทยมีเพียง 8.5-10% เทียบกับประเทศอื่นสูงถึง 35-40% หากดอกเบี้ยโลกขึ้นเร็ว ก็จะกระทบประเทศที่พึ่งพาเงินต่างประเทศสูง”

ข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์พบว่ามูลค่าสุทธิของกองทุนรวมไทยรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัว 4.63% มาที่ 4.86 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในต่างประเทศ 5.95 แสนล้านบาท โดยไหลไปลงทุนในกลุ่ม High Yield Bond มากที่สุด

[caption id="attachment_125131" align="aligncenter" width="503"] TP14-3227-A สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้[/caption]

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพตลาดการออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในระบบค่อนข้างบิดเบี้ยวหรือเพี้ยนไปจากเดิมภายหลังจากเกิดปัญหาในช่วงที่ผ่านมา

โดยจะเห็นว่าบริษัทที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Ratting)หรือไม่มีหลักประกัน ปัจจุบันสามารถออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยกู้จากธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ในระดับดี ไม่ถึงกับดีมาก จะได้รับเรตอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างตํ่ามากไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ดังนั้นจากแนวโน้มตลาดที่บิดเบี้ยว หรือการออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ของบริษัทที่ไม่มีเรตติ้งหรือการจัดอันดับความเสี่ยงในต้นทุนที่ไม่สูง ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ก่อให้เกิดการสร้างหนี้ผิดประเภท ทำให้ช่วงที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ หุ้นกู้ออกมาจำนวนมาก แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ไม่มีเรตติ้งก็ตาม ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อระบบ เพราะหลายครั้งที่เกิดวิกฤติจะเกิดจากหุ้นกู้ ส่วนผู้ลงทุนต้องพิจารณาให้ดีก่อนลงทุน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะตํ่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1% และกองทุนอยู่ที่ 2-4% แต่ต้องประเมินความเสี่ยงให้ดี

“ตลาดหุ้นกู้ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ผิดเพี้ยนไป เพราะทุกคนสามารถออกหุ้นกู้ในราคาที่ตํ่าเกินไป ตํ่าเกินความเสี่ยง และจากการที่ทุกคนสามารถออกหุ้นกู้ได้ถูกกว่ากู้ธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่งทำให้เกิดการก่อหนี้ผิดประเภท เพราะต้นทุนเงินที่ถูก ส่งผลให้ตลาดการแข่งขันแย่ลง”

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34