แบงก์กําไรวูบ8%

25 ต.ค. 2560 | 08:49 น.
แบงก์ทั้งระบบกำไรไตรมาส 3 เฉียด 5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 8% เหตุหนี้เสียพุ่งสวนทาง กระทบยอดกันสำรองเพิ่ม ไทยพาณิชย์มั่นใจแผนลงทุนดิจิตอลมาถูกทางหนุนกำไรโตยั่งยืน นักวิเคราะห์คาดเอ็นพีแอลถึงจุดสูงสุด

ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 มีกำไรสุทธิรวมกัน 49,177 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 53,948 ล้านบาท ลดลง 8.8% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเพิ่มไม่หยุดโดยงวด 9 เดือน ยอดรวมเอ็นพีแอลอยู่ที่ 401,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 7.38% ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่ม และกระทบต่อกำไร

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กำไรของธนาคารที่ลดลงส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 367 ล้านบาท หรือ 1.57% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.47% รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 468 ล้านบาท หรือ 2.93%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2560 กำไรสุทธิของธนาคารที่ลดลง 12% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น และเตรียมการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IFRS 9 ที่จะใช้ในปี 2562

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 13.8% สืบเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารในการปรับองค์กรและเทคโนโลยีสู่ยุคดิจิตอล ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ มีจำนวน 23,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อ 4.3% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน 11,419 ล้านบาท ลดลง 4.6% จากปีก่อน จากการลดลงของกำไรจากเงินลงทุน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย

MP24-3307-A “ธนาคารยังดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบต่อไป ด้วยเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และระดับสำรองหนี้สูญที่สูงเพิ่มขึ้น SCB Easy Application ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธนาคาร” นายอาทิตย์ กล่าว

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี(ประ เทศไทย)ฯ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีหน้าเอ็นพีแอลควรจะปรับลดลงเพราะแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและแรงหนุนจากนโยบายเบิกจ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ ขณะเดียวกันทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอัตราการเติบโตของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดีขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า เอ็นพีแอลไตรมาส 3 จำนวน 4.2 แสนล้านบาทของธนาคารพาณิชย์น่าจะสูงที่สุดแล้ว โดย 50% หรือ 2.2 แสนล้านบาทมาจากธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนที่มาจากบริษัทขนาดใหญ่มีเพียง 9.4 หมื่นล้านบาท และรายย่อยอีก 1.1 แสนล้านบาท

ส่วนปีหน้าจะเห็นแนวโน้มการปรับลดลงของหนี้เอ็นพีแอล ขณะที่สินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่จะกลับมา สำหรับสินเชื่อรายย่อยยังเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34