รื้อโครงสร้างภาษี! เพิ่มรายได้-เป็นธรรม? (ตอน 1)

24 ต.ค. 2560 | 08:47 น.
1522
การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 ตอบสนอง 3 เป้าหมาย ได้แก่ ประสิทธิภาพการเก็บรายได้, ขยายฐานผู้เสียภาษี และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งในเชิงโครงสร้างภาษีและระบบการจัดเก็บภาษี

งบประมาณรายจ่ายปี 2561 กำหนดเป้ารายได้ภาษีที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กรมสรรพากร 1.92 ล้านล้านบาท, กรมสรรพสามิต 600,000 ล้านบาท และกรมศุลกากร 1.1 แสนล้านบาท

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงเห็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บภาษีหลักทั้ง 3 ส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาษีสรรพสามิต, ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพากร ให้มีเนื้อหาทันสมัย จัดเก็บรายได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียภาษีทั้งระบบ รวมทั้งการออกกฎหมายภาษีใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีมรดกที่มีผลบังคับใช้แล้ว, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังใช้กำลังภายในสู้กันอยู่ใน สนช. รวมไปถึงภาษีธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business) ที่อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์


MP23-3307-A

มาดูภาษีที่เพิ่งมีผลไปสด ๆ ร้อน ๆ คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2560 เป็นการยกเลิกกฎหมายเก่า 46 ฉบับ มารวมไว้ในฉบับเดียว พร้อมกับการเปลี่ยนฐานการจัดเก็บภาษีใหม่ จากราคาหน้าโรงงานสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ หรือ ราคานำเข้า (CIF) สำหรับสินค้านำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ และเพิ่มการจัดเก็บภาษีความหวานเติมเข้ามาครั้งแรก ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

สินค้า 3 รายการที่อ่อนไหวด้านราคา “สุรา, เบียร์ และยาสูบ” เป็นตัวป่วนตลาดในช่วงแรก ๆ ของการประกาศใช้ เกิดการกักตุนสินค้าล่วงหน้าทั่วประเทศ จนสินค้าขาดตลาด แม้กรมสรรพสามิตจะมีมาตรการป้องกันอย่างดี แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แม้ล่าสุด สถานการณ์จะเรียบร้อย แต่ผลยังต้องใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี กว่าราคาสินค้าจึงจะนิ่ง

ส่วนภาษีที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พ.ย. นี้ คือ พ.ร.บ.ศุลกากร กฎหมายที่ตราเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2469 แม้จะมีการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ทันต่อการค้าโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ หัวใจหลักเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า สนับสนุนการลงทุน ลดกระบวรการและพิธีการทางศุลกากรให้มีความคล่องตัว และเปิดทางนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติมาตลอด


22448134_1826294777390069_5482662600464307330_n

กฎหมายนี้ยังต้องการสร้างความโปร่งใส โดยเฉพาะประเด็นเงินสินบนรางวัล ที่เป็นปัญหามาโดยตลอดเรื่อความโปร่งใสในการตรวจจับ หลีกเลี่ยงอากรหรือสำแดงราคาที่เท็จของผู้นำเข้า จากแรงจูงใจเงินรางวัลสินบนที่ตั้งไว้สูงถึง 55% ของค่าปรับรวมกับมูลค่าขายของกลาง โดยไม่กำหนดเพดานกฎหมายใหม่จึงปรับลดจาก 30% เหลือ 20% สำหรับการแจ้งเบาะแส และจาก 25% เหลือ 20% สำหรับเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อรวมสินบนและเงินรางวัลแล้ว จะต้องไม่เกิน 5 ล้านบาท

ในทางปฏิบัติอาจจะเจอคำถามใหญ่ เจ้าหน้าที่ขาดแรงจูงใจ จะปล่อยปละละเลยหรือไม่ หรือจะเกิดกรณีจับแล้วปล่อย ไม่บันทึกประจำวัน แลกกับเงินใต้โต๊ะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34