น้อมนำคำสอนของพ่อ กับการวางแผนการเงิน ตาม‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’

24 ต.ค. 2560 | 23:05 น.
MP23-3307-1C พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่ประชาชนคนไทยนับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ด้วยเพราะพระองค์ทรงห่วงใยคนไทยต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ และเมื่อประเทศไทยประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 พระองค์ได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลง โดยทรงสอนให้คนไทยรู้จักคำว่า “พอเพียง” เพื่อนำตนเองและประเทศชาติให้รอดพ้นภาวะวิกฤติต่างๆ และนำไปสู่ความสุขได้

โดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้น ประกอบไปด้วยคุณสมบัติที่สำคัญคือ หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข กล่าวคือ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ และภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง รอดพ้นจากวิกฤติ และรองรับการเปลี่ยน แปลงต่างๆ

ทั้งนี้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง 2 ประการ ได้แก่ เงื่อนไขความรู้ ที่จะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ และเงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน และมีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตโดยพวกเราคนไทยทุกคนสามารถน้อมนำคำสอนของพ่อตามแนว “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ดังนี้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01 1. ความพอประมาณ ก็คือ การใช้จ่ายอย่างประหยัดตามฐานะหรือรายได้ที่เรามีโดยไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพื่อป้องกันการเกิดหนี้สินที่จะตามมาในอนาคต โดยในส่วนนี้ท่านผู้อ่านอาจมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อควบคุมรายการใช้จ่ายให้เหมาะสม และตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป

2. ความมีเหตุผล ก็คือ การใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุผล โดยในการใช้จ่ายเงินแต่ละครั้งนั้นเราควรจะต้องไตร่ตรองให้ดีว่ามีเหตุผลที่ดีพอมั้ยที่เราจะใช้เงินนั้น โดยต้องแยกให้ออกว่าสิ่งของที่เราจะซื้อนั้นอะไรคือความจำเป็น หรือความอยากได้มากกว่ากัน

3. มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ข้อนี้จะตรงกับความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ซึ่งถ้าเป็นเรื่องการเงินก็คือการรู้จักวางแผนการเงิน การบริหารจัดการเงินที่ดี รวมไปถึงการจัดการความเสี่ยงทั้งหลาย โดยในการวางแผนการเงินจะต้องมีการนำเงื่อนไขของการมีความรู้และมีคุณธรรมมาควบคู่กันด้วย โดยการหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุนเพื่อให้เรามีความรู้อย่างดีพอ รวมไปถึงการมีความรู้ในการหารายได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งความรู้ดังกล่าวจะต้องมีพร้อมด้วยคุณธรรมควบคู่ไปด้วย โดยไม่โกงและไม่เอาเปรียบผู้อื่นนั่นเอง ซึ่งผมเชื่อแน่ว่าหากท่านผู้อ่านทุกท่านได้น้อมนำคำสอนของพ่อตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการวางแผนการเงินแล้ว จะสามารถทำให้ท่านผู้อ่านทุกท่านและครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างแน่นอน แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-34