รายย่อยอยากเพิ่มทุนIEC

22 ต.ค. 2560 | 10:20 น.
IEC ประชุมผู้ถือหุ้นยืดเยื้อ รายย่อยค้านข้อเสนอ “ทิศชวน” ผู้บริหารแจงความจำเป็นต้องใช้เงิน 2 พันล้าน

บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC จัดการประชุม วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 โดยมีวาระสำคัญเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียน 2,035 ล้านบาท จากทุนเดิม 2,440.66 ล้านบาท เป็นทุนใหม่ 4,476.57 ล้านบาท ออกหุ้นใหม่203,591 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 1 ต่อ 1 ราคาหุ้นละ 0.0125 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.01 บาท เพื่อแก้ปัญหาบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก มีผู้ถือหุ้นมาประชุมด้วยตัวเอง 3,354 ราย รวม 119,974 หุ้น

นายทิศชวน นานาวราทร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เสนอให้เพิ่มทุนบางส่วน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งใช้เงินไม่กี่ร้อยล้านบาทเพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อนมีโอกาสเพิ่มทุน และได้ประโยชน์จากการเพิ่มทุน มาพัฒนาจัดการปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนปีหน้าถ้าดำเนินการด้วยดี หุ้นจะกลับมาซื้อขายได้ จะเพิ่มทุนก็ได้ มาซื้ออนาคตก็ไม่สาย

นอกจากนั้นนายทิดชวนยังเสนอลดสัดส่วนการเพิ่มทุนเป็น 10 ต่อ 1 หรือ 9 และ 8 ต่อ 1 ไม่เห็นด้วย 1 ต่อ 1 เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรายย่อย ขณะที่รายย่อยลุกขึ้นมาค้านไม่เห็นด้วยกับนายทิศชวน เสนอให้เพิ่มทุนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่การหาของใหม่เข้ามาเสริมรายได้ เช่นการซื้อโรงไฟฟ้าสุพรรณบุรี 750 ล้านบาท

MP17-3307-B นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ IEC กล่าวว่าไม่สามารถทำตามข้อเสนอของนายทิศชวนได้ เนื่องจากการซ่อมแซมเครื่องจักรของโรงไฟฟ้า ต่างๆ ต้องใช้เงิน 500 ล้านบาท และหากไม่เพิ่มทุนรองรับไว้ การเรียกเพิ่มทุนใหม่จะใช้เวลาไม่ทันกับการดำเนินงาน

ส่วนที่ผู้ถือหุ้นเสนอให้ขายโรงงานพลาสติกที่ระยองนั้น นายพงศ์กวิน กล่าวว่า ธุรกิจหลักของ IEC คือการผลิตไฟฟ้า กำหนดโดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้ อีกทั้งมีค่าเสื่อมเครื่องจักร ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า จึงต้องเพิ่มทุนครั้งนี้ 2 ,000 ล้านบาท รองรับการตัดค่าเสื่อม ภาระหนี้ และสำรองวัตถุดิบ

IEC เผชิญวิกฤตการณ์มานาน เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุน และไม่สามารถนำส่งงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และหุ้นถูกห้ามการซื้อขายมานานหลายปี

นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของบริษัท IEC เสนอตัวที่จะเข้ามาบริหารบริษัท IEC มั่นใจว่าได้เงินเพิ่มทุนใหม่แล้ว ผลการดำเนินงานจะก้าวหน้าไม่แพ้บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ APURE ที่เข้าบริหารประมาณ 5 ปี มีกำไรต่อเนื่อง และล้างขาดทุนกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ แต่หากไม่ได้เม็ดเงินเพิ่มทุนให้เข้ามา ส่วนของผู้ถือหุ้นจะมีโอกาสติดลบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว