เอกชนเมิน! ใช้สิทธิ FTA เจอตอเพียบ

22 ต.ค. 2560 | 06:36 น.
พาณิชย์เหนื่อย! เอกชนเมินใช้สิทธิ “เอฟทีเอ” ส่งออก ตัวเลขครึ่งปีแรกชี้ชัด “เอฟทีเอ” กับ 17 ประเทศ ใช้สิทธิรวมไม่ถึง 50% ... กรมเจรจาฯ ตีปี๊ปเร่งใช้ ระบุ เป็นแต้มต่อต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้าน เอกชน ระบุ ใช้สิทธิน้อยจาก 3 ปัจจัยลบ


appgone-696x385

ขณะที่ ทุกฝ่ายกำลังปลื้มกับตัวเลขส่งออกของไทยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัวสูงถึง 9.3% จนกระทรวงพาณิชย์ประกาศปรับเป้าส่งออกทั้งปี จาก 7% เป็น 8% นั้น แต่เมื่อย้อนกลับมาดูการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญา กลับพบว่า ยังมีการใช้สิทธิน้อย

จากข้อมูลล่าสุดของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ไทยมีการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอ 17 ประเทศ รวม 12 ฉบับ มูลค่ารวม 6.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้มีสัดส่วนการใช้สิทธิเอฟทีเอต่อการส่งออก รวมมูลค่า 2.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเป็นสัดส่วนเพียง 43.6% เท่านั้น โดยเอฟทีเอที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในอัตราภาษีนำเข้า 0% หรือในอัตราภาษีต่ำมากที่สุดใน 5 กลุ่มประเทศแรก ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (นาฟต้า), เอฟทีเออาเซียน-จีน, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย และไทย-ออสเตรเลีย, เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น และไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย และไทย-อินเดีย


โปรโมทวิทยุ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ณ ปัจจุบัน ไทยมีการทำเอฟทีเอแล้วกับ 17 ประเทศ รวม 12 ฉบับ ทั้งในนามกลุ่มอาเซียนและระดับทวิภาคีในนามประเทศไทย ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, บรูไน, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) และเอฟทีเอกับอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, ชิลี และเปรู โดยในปี 2559 ไทยมีการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอข้างต้น มูลค่ารวม 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการใช้สิทธิเอฟทีเอในการส่งออก 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 43.3%


15-3307

ขณะที่ มีเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างเปิดเจรจา ได้แก่ ไทย-ปากีสถาน และไทย-ตุรกี และมีเอฟทีเออีก 1 ฉบับ ที่จะมีการลงนามความตกลงในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ฟิลิปปินส์ในเดือน พ.ย. นี้ คือ เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง และมีเอฟทีเอในกรอบใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนกับ 6 ประเทศ (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) หรือ RCEP ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เป้าหมายแล้วเสร็จในปีหน้า

“การจัดทำเอฟทีเอจะทำให้ผู้ส่งออกไทยมีแต้มต่อในการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในอัตราภาษี 0% หรือในอัตราภาษีต่ำในสินค้าอ่อนไหวของประเทศคู่ค้า แต่ในปีที่ผ่านมา รวมถึงช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ การใช้สิทธิเอฟทีเอต่อการส่งออกโดยรวมของผู้ประกอบการไทยไปยังประเทศคู่ค้ายังต่ำ ทางกรมจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับผู้ประกอบการว่า สินค้าใดที่เขาลดภาษีลงไปแล้วบ้าง หรือคิดว่า จะมีช่องทางใดที่เขาจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น ขณะที่ ในปี 2560-2561 กรมมีแผนจะลงพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อพูดคุยกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับผลดีหรือผลเสียจากเอฟทีเอที่มีอยู่ และที่จะมีในอนาคต เพื่อติดตามผลและพิจารณาว่า เรื่องใดที่อยากให้ผลักดันเปิดเสรีต่อ หรือเรื่องใดที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจา และกรมจะเข้าไปเยียวยา หรือมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เหตุที่ผู้ประกอบการยังขอใช้สิทธิเอฟทีเอในการส่งออกน้อย มองว่า เป็นผลจาก 3 ปัจจัย คือ 1.สินค้าที่มูลค่าการส่งออกสูง เช่น รถยนต์ ยังมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกไม่มาก (9 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบของไทยยังติดลบ 1.9%), 2.สินค้าหลายรายการมีการแข่งขันสูงในประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอ ทำให้การส่งออกขยายตัวไม่มาก และ 3.จากเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีผลต่อการเจรจาต่อรองซื้อขายสินค้า

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว