“3 ยักษ์ดิจิทัล” บุก! ยึดอี-คอมเมิร์ซ

22 ต.ค. 2560 | 05:00 น.
ผู้เชี่ยวชาญ เผย ปรากฏการณ์ไทยเนื้อหอม คอนเฟิร์ม! “ศูนย์กลางภูมิภาค” หลัง 3 ผู้นำยักษ์ออนไลน์ข้ามชาติเดินเกมรุกเจรจารัฐบาล ส่งผลการค้าออนไลน์ไทยยกระดับเข้าสู่เกมการแข่งขันระดับโลก ... “เจดี ดอทคอม” ขยับเปิดศึกชิงลูกค้า ... “ลาซาด้า” หวั่น! สินค้าจีนทะลัก

เจ้าพ่ออินเตอร์เน็ตระดับโลก 3 ราย คือ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” แห่งเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียชื่อดังของโลก, “แจ็ค หม่า” แห่งอาลีบาบากรุ๊ป ผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส อันดับ 1 และ “ริชาร์ด หยู” แห่งเจดีดอทคอม ผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส อันดับ 2 จากจีน มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ คือ การเดินทางเยือนไทยช่วงปลายเดือน ต.ค. - ต้นเดือน พ.ย. เพื่อเจรจากับรัฐบาล กำหนดและวางยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจ ท่ามกลางการปฏิเสธจากโฆษกเฟซบุ๊กสิงคโปร์เพื่อนบ้านและคู่แข่งตัวเอ้ในอาเซียน แต่ไม่ได้ทำให้ตลาดออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซลดความร้อนแรงลงไปได้


fb_icon_325x325

นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวแสดงความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปรากฏการณ์ที่ผู้นำด้านออนไลน์ 3 คน มีกำหนดการเดินทางมาเยือนไทย เพื่อหารือกับรัฐบาล ชี้ให้เห็นว่า ต่อจากนี้ตลาดออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซของไทยกำลังก้าวสู่การแข่งขันในตลาดระดับโลกอย่างเต็มตัว

การเข้ามาลงทุนของผู้ให้บริการระดับโลก ที่มีทั้งเทคโนโลยี ประสบการณ์การให้บริการ และเงินทุน จะช่วยผลักดันให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยที่มีศักยภาพการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้ว มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมองว่า หลังจากนี้ไปจะมีเงินทุนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาลงทุนด้านการตลาดหลายหมื่นล้านบาท โดย “เจดี ดอทคอม” ประกาศร่วมลงทุนเซ็นทรัลประมาณ 15,500 ล้านบาท เพื่อช่วงชิงลูกค้า ถึงแม้ว่า “เจดี ดอทคอม” จะมาหลัง “อาลีบาบา” ที่เข้ามาขยายธุรกิจผ่าน “ลาซาด้า” ผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส อันดับ 1 ของไทย แต่การเข้ามาร่วมทุนกับเซ็นทรัล ยักษ์ค้าปลีกของไทย ก็ทำให้มีจุดแข็งที่แตกต่าง ที่ “อาลีบาบา” ไม่มีในไทย เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ ดีพาร์ตเมนท์สโตร์ ซึ่งเป็นช่องทางค้าปลีกดั้งเดิม และระบบโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจค้าปลีก


e-commerce-concept_23-2147513189

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือ ผู้ให้บริการต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ยักษ์ใหญ่จากจีน” เปิดเกมรุกตลาดไทยอย่างเต็มรูปแบบ จะส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาดไทยมากขึ้น วิธีคิดของบริษัทจีนต่างจากบริษัทข้ามชาติรายอื่น ก่อนหน้านี้ “ราคูเท็น” ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจากญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนเพื่อนำสินค้าไทยขายไปต่างประเทศ แต่สำหรับยักษ์ใหญ่จากจีนนั้น ...ขยายธุรกิจเข้ามาในไทย เพราะต้องการขยายการทำตลาดสินค้าจีนเข้ามาในไทย และใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าจีนไปยังตลาดภูมิภาค โดยผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลสจากจีนทั้ง 2 ราย ประกาศชัดเจนว่า ต้องการใช้ไทยเป็นศูนย์การกระจายสินค้าไปยังภูมิภาค

“จริงอยู่ การเข้ามาของยักษ์อี-คอมเมิร์ซจีนจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ กลุ่มทุนจีนเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากการนำสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย และจะใช้ไทยเป็นทางผ่านในการขายสินค้าจีนไปยังตลาดภูมิภาค”


บาร์ไลน์ฐาน
นักวิเคราะห์ตลาดไอทีรายหนึ่ง กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองจากบริษัทเทคโนโลยีและออนไลน์ระดับโลก ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ ดิจิตอลอีโคโนมี และมีการเชื้อเชิญบริษัทด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี อีกทั้งไทยยังมีปริมาณประชากรอันดับต้นในภูมิภาค และคนไทยยังเป็นประเทศที่เปิดรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ไทยยังมีพื้นที่ภูมิศาสตร์เหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค

ข้อมูลที่น่าสนใจการใช้เทคโนโลยีของคนไทย คือ ไทยมีประชากรเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 38 ล้านคน หรือ 60% ของประชากร และต้นปี 2560 มียอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือรวมทั้งสิ้น 90.7 ล้านคน ขณะที่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากสุด 24 ล้านบัญชี ขณะที่ ผู้ใช้ทั่วประเทศอยู่ที่ 47 ล้านบัญชี

 

[caption id="attachment_222338" align="aligncenter" width="400"] Photo by picjumbo.com from Pexels Photo by picjumbo.com from Pexels[/caption]

ข้อมูลการสำรวจอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซล่าสุด “เอ็ตด้า” ระบุตัวเลขคาดการณ์มูลค่าอี-คอมเมิร์ซในปี 2560 มีมูลค่า 2.81 ล้านล้านบาท เติบโต 9.86% แบ่งเป็น อี-คอมเมิร์ซประเภท B2B จำนวน 1,675,182.23 ล้านบาท สัดส่วน 59.56% เพิ่มขึ้น 8.63% และอี-คอมเมิร์ซประเภท B2C จำนวน 812,612.68 ล้านบาท สัดส่วน 28.89% เพิ่มขึ้น 15.54% และอี-คอมเมิร์ซประเภท B2G จำนวน 324,797.12 ล้านบาท สัดส่วน 11.55% เพิ่มขึ้น 3.24% โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซมากที่สุด คือ ค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 869,618.40 ล้านบาท สัดส่วน 34.96%

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว