ชง ครม. ผุด “4 พื้นที่ ศก.ชีวภาพ" ตั้งเป็นคอมเพล็กซ์ 10 ปี ลงทุน 3.62 แสนล้าน เชื่อม “อีอีซี"

23 ต.ค. 2560 | 11:19 น.
“อุตตม” เร่งนำแผนพัฒนา “เศรษฐกิจชีวภาพ” เข้า ครม. อนุมัติต้น พ.ย. นี้ วางกรอบ 10 ปี ต่อยอดจากอ้อยและมันสำปะหลัง ลงทุน 3.62 แสนล้านบาท นำร่องใน “อีอีซี” เชื่อมโยงสู่ 3 พื้นที่ “ขอนแก่น, นครสวรรค์ และกำแพงเพชร” ให้เป็นเขตส่งเสริม ได้สิทธิประโยชน์เหมือน “อีอีซี”


 

[caption id="attachment_209714" align="aligncenter" width="503"] อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ มีตัวเองเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ ไบโออีโคโนมี เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบประมาณต้นเดือน พ.ย. นี้ โดยถือเป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นและยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะครอบคลุมด้านมาตรการการส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์และมาตรการจูงใจให้เกิดการตั้งโรงงานผลิต ซึ่งจะมีการลงทุนในระยะเวลา 10 ปี (2560-2569) คิดเป็นเม็ดเงินราว 3.62 แสนล้านบาท โดยจะมีการลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่อีอีซี ในกลุ่มไบโอพลาสติก, Biopharma, Palm Biocomplex ประมาณ 10,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนใน จ.ชลบุรี ประมาณ 4,000 ล้านบาท และ จ.ระยอง อีกประมาณ 5,740 ล้านบาท โดยยังไม่รวมงบลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมนวัตกรรม หรือ อีอีซีไอ และจะมีการเชื่อมโยงสู่การพัฒนา Biorefinery Complex ที่ใช้น้ำตาลและมันสำปะหลังเป็นพืชนำร่องในเขตภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์ เงินลงทุนประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท และกำแพงเพชร เงินลงทุนประมาณ 2.15 หมื่นล้านบาท และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ใน จ.ขอนแก่น ลงทุนอีกประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยจะมีการเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตส่งเสริมพิเศษในลักษณะที่ใช้กับพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น


TP11-3307-A

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีตลอดห่วงโซ่นั้น จะมีการทำงานแบบบูรณาการของภาครัฐทั้ง 5 กระทรวง โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมา เช่น จากกระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประสานงานกับภาคเอกชนได้โดยตรง โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้ง

ขณะที่ ความสนใจของนักลงทุนนั้น เริ่มมีความชัดเจนขึ้นมากว่า รายใดจะลงทุนในโครงการอะไรในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีน เคมีคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีไอเอส, บริษัท อูเนโนไฟน์เคมีคัลส์อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด, บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท คริสตอลลา จำกัด, บริษัท แบ็กซ์เตอร์เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยโอซูกา จำกัด เป็นต้น

ประกอบกับพื้นที่ตั้งโครงการใน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ที่จะตั้งเป็น “ไบโอคอมเพล็กซ์” ราว 1,000 ไร่ ของบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS และพื้นที่ใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ของกลุ่มมิตรผล ซึ่งจะเสนอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษในลักษณะเดียวกับพื้นที่อีอีซีนั้น ก็มีการเตรียมความพร้อมและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งแล้วเช่นกัน ดังนั้น หาก ครม. อนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพขึ้นมา เอกชนก็พร้อมจะลงทุนได้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว